เบร็กซิท ในมิติการค้าไทย ก้าวใหม่สู่การค้าโลก
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2563 ณ กรุงฮานอย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของแห่งสหราชอาณาจักร(ยูเค)ได้ลงนามในการสรุปการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม - สหราชอาณาจักร (UKVFTA)
เพื่อให้แน่ใจว่าการค้าทวิภาคีจะไม่หยุดชะงักหลังจากช่วงเปลี่ยนผ่านของกระบวนการ Brexit ทั้งนี้คาดว่าข้อตกลงUKVFTAจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี2564 และข้อตกลงดังกล่าวยังเป็นก้าวสำคัญในบริบทที่สหราชอาณาจักรจะนำไปใช้เพื่อเข้าร่วมหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)ด้วย
การเคลื่อนไหวทางการค้านี้ เกิดขึ้นก่อนที่ยูเคและสหภาพยุโรป(อียู) จะสามารถสรุปความตกลงทางการค้าหลัง Brexit (A post-Brexit trade deal) ได้วันที่ 24 ธ.ค. 2563 ที่่ผ่าน ชี้ให้เห็นว่าปรากฎการณ์เบร็กซิท กำลังเป็นการขยับปรับเปลี่ยนที่สำคัญของภูมิศาสตร์การค้าโลก ซึ่งไทยในฐานะผู้เล่นสำคัญของห่วงโซ่การค้าโลกโดยมีมูลค่าต่อจีดีพีไทยสูงถึง 70% เป็นเงื่อนไขสำคัญว่าทุกๆการเปลี่ยนแปลงของการค้าโลก ไทยต้องให้ความสำคัญ
สุภาวดี แย้มกมล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) หรือทูตพาณิชย์ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า เบร็กซิทส่งผลให้ยูเค สามารถเจรจาความตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้านอกอียูได้ โดยที่ผ่านมายูเคได้สรุปความตกลงทางการค้าหลายฉบับ ครอบคลุมการค้ากับประเทศคู่ค้ากว่า 50 ประเทศ โดยในอาเซียนก็ได้สรุป เอฟทีเอกับสิงคโปร์และเวียดนาม
ในส่วนของไทยนั้น อยู่ระหว่างเจรจาจัดทำ Joint Trade Review กับ U.K. คาดว่าจะสรุปได้ ก.พ. 2564 โดยจะเป็นแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจการค้าระหว่างกัน และอาจต่อยอดไปถึงการเจรจาเอฟทีเอต่อไป
อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภายหลังจากเบร็กซิทแล้วยูเคและอียูจะหันไปทำข้อตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยยูเคจะเดินหน้าทำเอฟทีเอมากกว่ายุโรป โดยประเทศเป็นอันดับแรกคือ อินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐ รวมไปถึงการเข้าร่วม“CPTPP” นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมของยูเคจะไปเชื่อมโยงกับประเทศในเอเชียมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขการให้ความสำคัญกับประเด็นของ “Climate Change” และสิ่งแวดล้อม
สำหรับ ไทยยังต้องแข่งขันกับประเทศเวียดนาม ซึ่งมีเอฟทีเอกับอียู แล้วดังนั้น ไทยต้องพิจารณาการทำเอฟทีเอกับยูเค และอียู ให้เป็นตัวช่วยด้านการค้า เพราะอนาคตไทยจะมีแต้มต่อทางการค้าน้อยลง เช่น การถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพีจากประเทศต่างๆมากขึ้น ซึ่งหากไทยเปิดการเจรจาเอฟทีเอกับยูเคน่าจะใช้เวลาน้อยกว่าการเจรจากับอียู คาดว่าไม่จะเกิน 2 ปีโดยจะต้องมีข้อมูลการทำเอฟเอที่ชัดเจน
นอกจากนี้ไทยต้องดึงนักลงทุนจากยูเคเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรม 4.0 เนื่องจากยูเคออกจากอียูก็จะไปลงทุนในประเทศอื่นๆได้ง่ายขึ้น และยูเคจะต้องไปหาสินค้านอกอียูมากขึ้นจากเดิมที่อาศัยประเทศในกลุ่มอียู โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ผลไม้ โดยไทยก็จะได้โอกาสมากขึ้นมากขึ้นแต่ก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐานทั้งสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ เป็นต้น
“ภาพรวมของเบร็กซิท เชื่อว่าไทยจะได้ประโยชน์ แต่ผลกระทบทางอ้อมในระยะ 10 ปีข้างหน้า จีดีพี ยูเคลดลงไป 3-4% ในขณะที่จีดีพี ยุโรปลดลง 0.7% ซึ่งทั้งอังกฤษและยุโรปถือเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกที่อาจดึงจีดีพีโลกลดลง“
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เบร็กซิท มีผลต่อการค้าของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมูลค่าการส่งออกไทยไปยูเคเฉลี่ย 2 % ของสัดส่วนการส่งออกของไทยทั้งหมด โดยไทยเป็นคู่ค้าสำคัญของยูเคเป็นอันดับที่ 44 ในด้านการส่งออก เป็นรองสิงคโปร์ มาเลเซีย และเป็นอันดับที่ 32ด้านการนำเข้า เป็นรองจากประเทศเวียดนาม ขณะที่สัดส่วนการส่งออกของไทยไปอียู ราว 6-7% และยูเคส่งออกไปอียู คิดเป็นสัดส่วน 43% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกของยูเคทั้งหมด
ทางสรท.ประเมินการออกจากอียูในแบบ Deal case คือ อียูกับยูเค ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอยู่ ในมุมมองในเชิงการค้า โดยยูเคยังคงต้องพึ่งพาสินค้าเกษตรอาหารและอุตสาหกรรมบางประเภทในลักษณะห่วงโซ่การผลิตจากทางอียูต่อเนื่องอยู่ รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่มีความสอดคล้องกันในทางปฏิบัติเพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปด้วยความสะดวก รวมถึงระบบ customs union เหมือนเดิม
ขณะนี้ยูเคได้เร่งทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศพันธมิตรทั่วโลก ที่ลงนามความตกลงไปแล้ว22 ฉบับ และอยู่ระหว่างเจรจา 16 ฉบับ ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบจากกรณี
เบร็กซิท ที่อาจส่งผลต่อภาคธุรกิจและประชาชนในประเทศ หลายความตกลงในระดับทวิภาคีที่ยูเคทำความตกลงไว้มีผลบังคับวันที่ 1 ม.ค. 2564 โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในโซนเดียวกัน อาทิ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น รวมถึงงการทำความตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาทิ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม เป็นต้น
ส่วนไทยเท่าที่ทราบทางกรมเจรจาการค้าต่างประเทศอยู่ในระหว่างทำการศึกษาผลกระทบเชิงบวกเชิงลบกรณีที่ไทยมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับยูเค เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของฝั่งไทย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 29 ธันวาคม 2563