ไบเดนเซ็นคำสั่งนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ในวันแรกของการทำงาน
ไม่กี่ชั่วโมงหลังพิธีสาบานตน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งพิเศษ นำสหรัฐฯ กลับเข้าเป็นภาคีในความตกลงปารีส ที่นานาชาติรวมทั้งสหรัฐฯ ลงนามเมื่อปี 2015 เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า ไบเดนต้องการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังและเร่งด่วนตามที่เคยหาเสียงไว้
ก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่า การลดก๊าซเรือนกระจกจะทำลายภาคอุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเขาก็ไม่เชื่อว่ามีปัญหาโลกร้อนอยู่จริง
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า การกลับเข้าร่วมความตกลงปารีสของสหรัฐฯ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของคณะบริหารไบเดนในการกลับนโยบายที่ดำเนินมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีงานยากและความท้าทายรออยู่ข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการผลักดันนโยบายสีเขียวต่างๆ และส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล
การออกคำสั่งประธานาธิบดีฉบับใหม่ของไบเดนเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะร่วมมือกับนานาชาติในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน และต้องการฟื้นฟูบทบาทความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ โดยข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ชาติต่างๆ พยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย
คณะบริหารของไบเดนมีความตั้งใจที่จะระงับโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ที่วางมาจากแคนาดา และจะลงนามในคำสั่งพิเศษอีกหลายฉบับ เพื่อล้มล้างมาตรการหลายอย่างของทรัมป์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสงวนผืนดินและแหล่งน้ำ 30% ของอเมริกาภายในปี 2030 และปกป้องเขตป่าไม้แห่งชาติอาร์กติกจากการถูกขุดเจาะหาแหล่งน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม หลายนโยบายของไบเดนอาจพบกับอุปสรรค เนื่องจากเดโมแครตครองเสียงข้างมากแบบฉิวเฉียดในวุฒิสภา ทำให้ไบเดนต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคแบบไม่แตกแถว รวมถึงเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมด้วย
แต่คาดว่าไบเดนจะสามารถผลักดันแผนเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเดินหน้ากระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด, ลดการปล่อยคาร์บอนจากโรงไฟฟ้าภายในปี 2035 และบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
นอกจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว คำสั่งประธานาธิบดีฉบับใหม่ของไบเดนยังเกี่ยวข้องกับมาตรการรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19, ยับยั้งการถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO), ยุติการใช้มาตรการที่เข้มงวดต่อผู้อพยพผิดกฎหมายบริเวณชายแดน, ยกเลิกกฎแบนที่ไม่ให้ชาวมุสลิมจากหลายประเทศเข้าประเทศ ตลอดจนยุติการจัดสรรงบประมาณสร้างกำแพงกั้นพรมแดนทางใต้อีกด้วย
ที่มา The Standard
วันที่ 21 มกราคม 2564