"เมกะเทรนด์" เปลี่ยนโลก ไทยต้องก้าวตามให้ทัน
วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 บีบให้โลกต้องเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และต้องหันหน้าเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้หากยังบริหารจัดการควบคุมการแพร่ระบาดไม่อยู่หมัด ไทยคงก้าวย่างอย่างเชื่องช้าและตามหลังประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า
ถึงวันนี้คงยากที่เราจะสลัดมฤตยูโควิด-19 ออกไปให้พ้นตัว เพราะยิ่งตรวจเชิงลึก ยิ่งเจอ ยังไม่นับ “ความเห็นแก่ตัว” ของคนบางกลุ่มที่เป็นตัวการแพร่เชื้อให้ขยายไปในวงกว้างเป็น “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” อย่างไร้ความรับผิดชอบ ยังคงใช้ชีวิตสนุกสนานเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่คิดถึงส่วนรวม ขณะที่กลุ่มคนส่วนใหญ่ ยังต้องก้มหน้าปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อหวังให้การติดเชื้อในประเทศลดระดับลง การดำเนินชีวิตจะได้กลับมาสู่ความปกติเร็วขึ้น ธุรกิจได้เวลาฟื้นตัวเดินหน้าได้ เศรษฐกิจมีความผ่อนคลาย จะอัดมาตรการอะไรก็จะได้คล่องตัวมากขึ้น
แต่เมื่อยังมีคนเห็นแก่ตัวในสังคม บวกกับมาตรการเอาผิดของรัฐที่เพียงแค่ “เขียนเสือให้วัวกลัว” อ่อนแอ ไม่เข้มงวด จะอีกกี่ร้อยกี่พันมาตรการเยียวยา ก็ยากที่ประเทศไทยจะได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ วิกฤติโรคระบาดที่ลามแพร่เชื้อไปทุกพื้นที่ บีบให้โลกต้องเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และบีบให้พวกเราต้องหันหน้าเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการใช้ชีวิต และการทำธุรกิจ จำเป็นเหลือเกินที่ต้องตั้งสติ ตั้งรับให้ดี ใครตั้งรับได้ก่อนจะมีความได้เปรียบ และฝ่าวิกฤติทั้งโรคระบาด และดิจิทัล ดิสรัปชั่นไปได้อย่างสวยงาม
ยักษ์ใหญ่โทรคมอย่างน้อยสองแห่งทั้งในยุโรป และในไทย เพิ่งเปิดเมกะเทรนด์ใหญ่ ที่จะส่งผลต่อโลกนับจากนี้ ต่างเห็นพ้องกันว่า โควิด-19 คือจุดเปลี่ยนสำคัญ การทำงานเปลี่ยนไป วิถีชีวิตเดินไปสู่ดิจิทัลด้วยอัตราที่เร่ง ปัญหาที่เราเผชิญเมื่อปีที่แล้วทั้งปัญหาสุขภาพจิตของคนในสังคม ปัญหาโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ผู้ใช้งานที่ต้องการความปลอดภัยทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น วิถีการทำงานแบบใหม่ จะยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้นในปีนี้
เทคโนโลยีที่เราเคยเอ่ยอ้างก่อนหน้านี้ หุ่นยนต์ แชทบอท ฮาโลแกรม ระบบยืนยันตัวตนแบบไบโอเมตริกซ์ การเรียนรู้ในเชิงลึกของซอฟต์แวร์เครื่องจักรกล หุ่นยนต์ที่ใช้เอไอขับเคลื่อน ตอบโต้กับมนุษย์ได้ใกล้เคียงมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถาม การพูดคุย การสร้างความบันเทิง ขณะที่ ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลิต เก็บเกี่ยว สิ่งเหล่านี้จะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันและในธุรกิจเรามากขึ้นอย่างไม่ทันรู้ตัว ดังนั้น รัฐบาล และตัวเราจึงต้องตระหนัก เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้ด้วย
จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก ถ้าเรายังบริหารจัดการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้ไม่อยู่หมัด ปล่อยให้ “คนเห็นแก่ตัว” บางกลุ่มฝ่าฝืนทุกมาตรการอย่างไร้ความรับผิดชอบ การไม่ร่วมมือกันอย่างจริงใจที่จะฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน จะส่งผลให้การก้าวข้ามผ่านวิกฤติโรคระบาด เพื่อไปตั้งรับและให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะความรู้บุคลากรในประเทศ การปรับยุทธศาสตร์การค้าการลงทุน การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ให้ตอบโจทย์วิธีคิดและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญเสริมประเทศให้แข่งขันได้อย่างชาญฉลาด มีความได้เปรียบบนเวทีโลก คงเป็น “ก้าวย่างที่เชื่องช้า” และตามหลังประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 29 มกราคม 2564