ไทยปลุกฟื้นท่าที “ซีพีทีพีพี” ดึง4ประเด็นกรรมาธิการร่วมศึกษาต่อก่อนหาข้อสรุป
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของประเทศไทยเป็นเรื่องที่รัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อมมาเป็นลำดับ
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของประเทศไทยเป็นเรื่องที่รัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อมมาเป็นลำดับ และยิ่งต้องเร่งดำเนินการมากขึ้นภายหลังจากที่สหรัฐฯได้ประธานาธิบดีคนใหม่ โจ ไบเดน ที่มีนโยบายนำสหรัฐฯเข้าร่วมเป็นภาคีในเวทีระดับนานาชาติ รวมทั้งการกลับเข้ามาร่วม CPTPP อีกครั้งหลังจากที่สหรัฐฯเคยถอนตัวไปตั้งแต่เดือน ม.ค.2563
ไทยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP อย่างต่อเนื่องซึ่งตามกำหนดเดิมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องมีการตัดสินใจว่าจะให้ไทยเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิก CPTPP กับชาติสมาชิกหรือไม่ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 หากแต่ ครม.ได้มีมติ (ตามข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์) ให้ชะลอเรื่องนี้ออกไปและให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งได้มีการศึกษาเรื่องนี้ในทุกประเด็นและล่าสุดได้ส่งผลการศึกษาและความเห็นของกรรมาธิการฯมาให้ ครม.รับทราบเมื่อการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เร่งจัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามแผนงานการดำเนินการเพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯโดยให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่มีภารกิจต่อเนื่องรวมทั้งภาคส่วนต่างๆ เช่นภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และรวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความพร้อม และเงื่อนไขเวลาในการขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP หรือความไม่พร้อมของไทยรายงานให้ ครม.รับทราบใน 90 วันเพื่อหาข้อสรุปต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า รายงานของคณะกรรมาธิการฯที่เสนอ ครม.ได้ตั้งประเด็นสำคัญในการเข้าร่วม CPTPP ของไทยที่เป็นข้อสังเกตที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อม 4 ประเด็น ได้แก่
1). การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยไทยมีกลไกเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอยู่บ้างแล้วผ่านกลไกของกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ แต่ยังไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่ม และยังขาดความต่อเนื่อง ขณะที่กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการจัดตั้งกองทุน FTA ที่มีความต่อเนื่อง คล่องตัว และการจัดการข้อมูลที่ดีเพื่อรวบรวมข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบ และติดตามผลการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยพัฒนาศักยภาพและยกระดับการแข่งขันได้จริง
2). ความมั่นคงทางภาคเกษตรของไทย โดยกรรมาธิการฯระบุว่าความตกลง CPTPP มีข้อบทที่กำหนดให้ภาคีความตกลงต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991)
ทำให้เกษตรกรรายย่อยได้รับผลกระทบ หรืออาจมีการแสวงหาประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ซึ่งจะต้องมีการยกระดับกฎหมายด้านการคุ้มครองพันธุ์พืชและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย โดยรัฐบาลได้รายงานว่าได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ให้มีผลใกล้เคียงกับ UPOV1991 รวมทั้งออกกฎหมายคุ้มครองการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองไว้ปลูกต่อได้ และจัดทำกฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของไทยซึ่งมีกลไกเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรชีวภาพรวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่
ขณะเดียวกันเห็นควรให้เร่งสนับสนุนให้มีการปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ต่างๆเพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาค
3). ความมั่นคงทางระบบสาธารณสุข ในประเด็นนี้กรรมาธิการฯมีความเป็นห่วงว่าความตกลง CPTPP มีข้อกำหนดให้เปิดการนำเข้าสินค้าประเภท “remanufactured goods”ซึ่งอาจส่งผลให้มีการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและอายุการใช้งานน้อยกว่าเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่ และการกำหนดไม่ให้รัฐวิสาหกิจที่มีพันธกิจในทางการแพทย์มีข้อได้เปรียบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ขององค์การเภสัชกรรมที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชฯเป็นลำดับแรก 30% ของงบประมาณ โดยรัฐบาลชี้แจงว่าเรื่องนี้หากเปิดให้มีการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวจะต้องกำหนดนิยามและพิกัดศุลกากรเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวให้ชัดเจน และการปรับแก้ปฎหมายที่เกี่ยวข้อง และองค์การอาหารและยา (อย.) ต้องศึกษาแนวทางในการกำกับดูแลควบคุมมาตรฐานสินค้าดังกล่าวด้วย ส่วนประเด็นข้อจำกัดขององค์การเภสัชฯ รัฐบาลชี้แจงว่าหากไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP จำเป็นที่จะต้องขอสงวนในส่วนนี้และขอระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อปรับตัว ส่วนในระยะต่อไปต้องมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศและเพิ่มความสามารถในการผลิตยารักษาโรคในประเทศให้ได้มากขึ้น
4). มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตการค้าเสรี (Free Zone) และการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้า ในปัจจุบันมีข้อกำหนดว่าผู้ผลิตที่มีกระบวนการผลิตใน Free Zone และใช้วัตถุกิบภายในประเทศหรืออาเซียนไม่น้อยกว่า 40% สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศโดยไม่ต้องเสียอากรขาเข้าแต่ความตกลง CPTPP และองค์การการค้าโลก (WTO) ห้ามไม่ให้กำหนดเงื่อนไขปฏิบัติซึ่งรวมถึงการกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) เพื่อการได้รับสิทธิยกเว้นอากร ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องปรับแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้โดยจะต้องศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และหารือแนวทางดำเนินการที่จำเป็นกับผู้ประกอบการใน Free Zoneส่วนเรื่องมาตรฐานสินค้าเพิ่มเติมต้องศึกษาให้รอบครอบรวมทั้งต้องระวังการฟ้องร้องจากประเทศผู้นำเข้าสินค้าด้วย
ในส่วนของประเด็นภาพรวมเกี่ยวกับความตกลงฯ CPTPP กรรมาธิการฯได้ตั้งประเด็นที่รัฐบาลต้องดำเนินการได้แก่ 1.การมีข้อมูบที่เพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณที่จะเกิดขค้นจากการเยียวยาจากผลกระทบด้านลบ 2.การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง และ 3.รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า
อย่างไรก็ตามในการชี้แจงของรัฐบาลจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานว่ายังไม่สามารถให้ข้อมูลแผนงานดำเนินการเพื่อปรับตัว รวมทั้งกรอบเวลาที่ชัดเจนในการทำงานได้ในชั้นนี้ และบางหน่วยงานมีข้อห่วงกังวลต่อการดำเนินการตามข้อสังเกตเช่น การเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกิบการการไทยเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่สูงขึ้น และเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้แก่ต่างชาติ จึงเห็นควนสนับสนุนให้มีการหารือในรายละเอียดต่อไป โดยให้เวลาเพิ่มเติมสำหรับการจัดทำแผนงานการดำเนินการเพื่อปรับตัวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นการดำเนินการศึกษาวิจัย /สำรวจข้อมูลทรัพยากร รวมถึงส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถเตรียมท่าทีในการเจรจาและมาตรการเยียวยาได้อย่างเหมาะสม
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 1 มกราคม 2564