คิกออฟ “Made in Thailand” รัฐจัดซื้อจัดจ้างต้องใช้สินค้าไทย 60%
ส.อ.ท.เล็งคิกออฟ โครงการ Made in Thailand หรือ MiT นัดแรกวางไกด์ไลน์หนุนเอกชนคนไทย โดดชิงเค้กตลาดจัดซื้อจ้างภาครัฐ 2 ล้านล้านบาท หลังกระทรวงการคลังไฟเขียวออกกฎกระทรวงเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าไทย ทั้งวัสดุก่อสร้างพวกงานเหล็ก-เหล็กกล้า และวัสดุนอกงานก่อสร้าง ต้องได้รับประโยชน์เหนือคู่แข่งต่างชาติ ขู่งัดไม้แข็งใช้มาตรา 157 ฟ้องได้ หากหน่วยงานรัฐละเว้นไม่ยอมทำตามประกาศฉบับใหม่
หลังจากกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ด้วยการกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการ SMEs ไม่ต่ำกว่า 30% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีดังกล่าวโดยให้แต้มต่อด้วยราคาที่ “สูงกว่า” เอกชนรายใหญ่ 10% และบังคับให้จัดจ้างสินค้าเหล็กไทยถึง 90% นั้น
ล่าสุด นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กฎกระทรวงของกรมบัญชีกลางว่าด้วยแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตโดยคนไทย เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นไปตามที่ ส.อ.ท.ได้นำเสนอนโยบาย Made in Thailand หรือ MiT
ส่วนขั้นตอนต่อไป ทาง ส.อ.ท.จึงได้เตรียมจัดทำแนวทางการปฏิบัติสำหรับสมาชิกเอกชนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ (ไกด์ไลน์) ว่า มีวิธีการอย่างไรบ้าง หากหน่วยงานรัฐบาลใดไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับข้างต้น ทางเอกชนสามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องตามมาตรา 157 การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
“Made in Thailand เป็นเรื่องที่เราผลักดันมาเป็นเวลา 3-4 ปี จนหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐ ก็มีนโยบาย America First มาจนกระทั่งถึง Buy American ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นนโยบายที่เหมือนกับที่ประเทศไทยทำ แต่เราประกาศออกมาแล้วกลับทำไม่ได้ การดำเนินนโยบายนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ”
“โดยการเร่งรัดก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานออกมาก็จะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจ การประมูล บวกกับนโยบาย Made in Thailand กับทุกผลิตภัณฑ์ที่จะขายเข้ารัฐบาลก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ให้ผู้ประกอบการสินค้าที่ผลิตโดยคนไทยตลอดซัพพลายเชนให้มีความคึกคักมีเม็ดเงินเข้าไปพลิกฟื้นจากผลกระทบโควิด เพราะมาตรการลดดอกเบี้ย ยืดหนี้ก็จะหมดเดือนมิถุนายน ก็จะกลับสู่ชีวิตจริงแล้ว”
สำหรับมูลค่าตลาดของการจัดซื้อจัดจ้างของไทยต่อปีนั้น “สูงมากถึง 2 ล้านล้านบาทจากงบประมาณรัฐทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท” ซึ่งในจำนวนนี้มีสัดส่วนที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ไทย สามารถเข้าไปร่วมได้แค่ประมาณ 20-30% เท่านั้น
หากรัฐสามารถจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตไทยก็จะได้รับประโยชน์มีหลากหลาย มีทั้งกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องใช้สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์ ที่จะเชื่อมโยงไปยังห่วงโซ่การผลิตทุกอุตสาหกรรม ทั้งนี้ สำหรับผู้ผลิตที่ต้องการเข้าร่วมจัดซื้อจัดจ้างต้องมาขึ้นทะเบียนกับ ส.อ.ท.ก่อน จากนั้นจะได้รับการรับรองเพื่อให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้
“ในอนาคตหลังจากที่มีการกระตุ้นให้เกิดการผลิตและการจ้างงานในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่ขายเข้าสู่ตลาดจัดจ้างแล้ว เราคิดว่าหลังจากนั้นเมื่อมีรายได้ก็จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมก็จะตามมา ไม่เพียงช่วยขับเคลื่อน GDP แต่เป็นการดำเนินตามนโยบายที่ไทยต้องการส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ ช่วงแรกเราจะอึดอัดบ้าง แต่ต้องคิดว่าทำให้คนไทยรวย รวยได้ แต่รายใหญ่ก็ต้องมาช่วยซัพพลายเชนที่เป็นรายเล็ก จะได้เติบโตตามไปด้วย เราต้องสร้างวัฒนธรรมนี้ไม่ให้รายใหญ่กินรวบ ดูอย่างโมเดลญี่ปุ่นเขาโตไปด้วยกัน รัฐก็จะเข้ามาช่วยได้หมดทั้งใหญ่เล็ก” นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดทำระบบการยื่นขอใบรับรองสินค้า Made in Thailand หรือ MiT โดยผู้ยื่นขอการรับรองจะต้องมีคุณสมบัติ
1) เป็นผู้ประกอบการที่มีแหล่งผลิตในประเทศไทย
2) ต้องครอบคลุมนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา (ทะเบียนพาณิชย์ หรือได้รับการจดทะเบียนตามกำหนดของหน่วยงานราชการอื่น)
สำหรับประโยชน์ของการได้รับรอง Made in Thailand ได้แก่ สิทธิประโยชน์จากการให้แต้มต่อของภาครัฐที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศ “ไม่น้อยกว่า” ร้อยละหกสิบของพัสดุที่จะใช้, สินค้าจะได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้นจากคู่ค้า/ผู้บริโภค, เป็นการสร้างโอกาสในการขยายการค้าไปยังต่างประเทศที่นิยมสินค้าไทยได้มากขึ้น รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ในอนาคต
ส่วนเกณฑ์การพิจารณา MiT จะประกอบไปด้วย สูตร 1 และ 2 พิจารณาจากมูลค่าต้นทุนสินค้า MiT จะต้องได้เท่ากับหรือมากกว่า 40% สูตร 3 พิจารณาจาก HS code และสูตร 4 พิจารณาตามเงื่อนไขการผลิต substantial transformation (ST)
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564