เปิดยุทธศาสตร์ใหม่ "เวียดนาม 2030"

เปิดยุทธศาสตร์ใหม่ "เวียดนาม 2030" ที่จะยกระดับเวียดนามให้สามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจใหญ่ครั้งสำคัญในอนาคตโลก
 
เวียดนาม เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปีตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้เวียดนามจะเผชิญสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 แต่ก็ยังสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสไว้ได้ และสร้างเศรษฐกิจให้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 เป็นบวกได้ประมาณร้อยละ 2.9 ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็เผชิญกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบจากผลกระทบของโควิด-19
 
เวียดนามนั้นนับวันจะเป็นประเทศเกิดใหม่ที่เนื้อหอม จึงกลายเป็นแหล่งเข้าไปลงทุนของบริษัทข้ามชาติชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น IBM, Microsoft, Samsung, Honda, Procter & Gamble (P&G), Pepsico Food เป็นต้น นอกจากนี้เวียดนามเองก็ยังมีบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จและติดการจัดอันดับของ Forbes อยู่หลายบริษัท ได้แก่ บริษัท Vingroup, Vietjet Air, Masan Group, Mobile World, Sabeco, Vinamilk และ Techcomback และที่น่าสนใจอีกประการคือเวียดนามมีบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (Unicorn) อยู่ถึง 2 บริษัท ได้แก่ VNPay และ VNG
 
เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2563 มีความเคลื่อนไหวเชิงนโยบายที่สำคัญคือ เวียดนามได้ประกาศยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่เพื่อมุ่งพัฒนาประเทศสู่อนาคตในปี 2573 ชื่อยุทธศาสตร์ National Strategy on the 4th Industrial Revolution Toward the Year 2030 อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับเวียดนามให้สามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจใหญ่ครั้งสำคัญในอนาคตโลกที่จุดประกายโดย World Economic Forum ซึ่งประเทศเวียดนามได้วางยุทธศาสตร์หลักไว้ 7 ประการที่น่าสนใจ ได้แก่
 
1). พัฒนาสถาบันเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ (New Institutes for New Technology) รวมถึงสถาบันสำหรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) เทคโนโลยีการเงิน (Fintech) ธนาคารดิจิทัล (Digital Banking) เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และควบคุมระดับความเสี่ยงทางธุรกิจให้เหมาะสม ส่งเสริมการใช้ “กระบะทรายด้านกฎระเบียบ” (Regulatory Sandbox) ให้ธุรกิจใหม่ได้ทดลองทดสอบเพื่อสร้างกรอบกฎหมายสำหรับสินค้าบริการนวัตกรรม
 
นอกจากนี้ เวียดนามยังต้องการทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบ แรงจูงใจทางภาษี และเครื่องมือทางการเงินใหม่ที่ส่งเสริมให้บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศลงทุนวิจัยและพัฒนา พัฒนากรอบกฎหมายเพื่อป้องกันและควบคุมอาชญากรรมแบบใหม่จากเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น
 
2). พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างและใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Infrastructure & Big Data) โดยพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และรักษาความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ทำให้เกิดการเชื่อมต่อและการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ จัดทำฐานข้อมูลระดับชาติให้สมบูรณ์ รวมถึงฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับธุรกิจ เช่น ฐานข้อมูลการคมนาคม โครงการลงทุนภาครัฐ 
 
พร้อมกันนี้ยังต้องการสร้างระบบทางเทคนิคเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลความปลอดภัยของเครือข่าย อัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ โดยเฉพาะด้านพลังงานและการขนส่ง และส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนเพื่อพัฒนาและดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ
 
3). พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) เน้นขยายและปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาระดับปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรี การศึกษาวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่รองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 พร้อมปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้เพิ่มกิจกรรมในภาคการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน STEM และพัฒนาโปรแกรมการฝึกงาน ในศูนย์สนับสนุนนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ รวมถึงการเชื่อมต่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การฝึกอบรมและการผลิตและธุรกิจ
 
4). สร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สู่รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการภาครัฐในทุกสาขา ลงทุนและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการภาครัฐ (GovTech) และบริการสาธารณะ สร้างระบบข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมแบบเรียลไทม์ สร้างระบบข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมเชื่อมกันภายในภาครัฐ เชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลการจัดการระหว่างกระทรวง หน่วยงาน และท้องถิ่นแบบดิจิทัล และปรับปรุงคุณภาพการจัดการภาครัฐและพัฒนาข้อมูลสำหรับการวิจัยและธุรกิจ
 
5). พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศ (National Innovation Capacity) โดยสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติที่ธุรกิจเป็นศูนย์กลาง พัฒนาสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยให้ตอบโจทย์การวิจัยและพัฒนา เสนอกลไกและนโยบายที่ก้าวหน้าสำหรับศูนย์นวัตกรรม สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษา สถานประกอบการ และองค์กรในประเทศและต่างประเทศจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมในเวียดนาม
 
6). ลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี (Research and Development) ที่มีลำดับความสำคัญสูงในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ วัสดุขั้นสูง พลังงานหมุนเวียน ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีการดูแลสุขภาพ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ข้อมูลขนาดใหญ่ บล็อกเชน เป็นต้น
 
7). ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศและบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อมีส่วนร่วมในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
 
เวียดนามได้ตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดหลักที่ต้องการบรรลุในปี 2573 ซึ่งตัวชี้วัดเป้าหมายกลุ่มแรกเป็นอันดับการแข่งขันของประเทศ เช่น การอยู่ใน 40 อันดับแรกในด้านนวัตกรรมระดับโลก (Global Innovation Index) การอยู่ใน 30 ประเทศชั้นนำในดัชนีความปลอดภัยและความมั่นคงของเครือข่ายทั่วโลก และการอยู่ใน 50 อันดับแรกในดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government index) 
 
นอกจากนี้ เวียดนามต้องการสร้างให้เศรษฐกิจดิจิทัลให้มีสัดส่วนสูงเป็นร้อยละ 30 ของจีดีพี และมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์และบริการเครือข่ายมือถือ 5G ครอบคลุมประชากรทั้งหมด สามารถสร้างรัฐบาลดิจิทัลให้เสร็จสมบูรณ์ และพัฒนาเครือข่ายเมืองอัจฉริยะจำนวนมากและเชื่อมต่อกับเครือข่ายเมืองอัจฉริยะในภูมิภาคและโลก และวางเป้าหมายจะเพิ่มสตาร์ทอัพยูนิคอร์นเป็น 10 บริษัท
 
10 ปีนับจากนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เวียดนามต้องการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของประเทศ และเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564    

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)