รู้จัก "เน็ตดาวเทียม" พร้อมเจาะลึกความพิเศษ "Starlink" ของอีลอน มัสก์ และไทยสั่งเบรกจริงหรือ?
อินเทอร์เน็ตน่าจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ไปแล้ว แต่สำหรับพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มี 4G-5G หรือ ไฟเบอร์อย่างในทะเล ก็คงไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้หากไม่มีบริการ อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม (Satellite Internet) ซึ่งจริง ๆ แล้ว อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่ทำไม ‘Starlink’ ของ ‘อีลอน มัสก์’ ทำไมถึงน่าสนใจ และไทยจะได้ใช้งานเมื่อไหร่ ถูกเบรกจริงไหม ไปหาคำตอบกัน
เน็ตดาวเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่ :
อย่างที่เกริ่นไป อินเทอร์เน็ตดาวเทียมทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีมากว่า 20 ปีแล้ว โดยเป็นการใช้ดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า โดยข้อดีของอินเทอร์เน็ตดาวเทียมคือ ให้บริการครอบคลุมกว้างไกล แต่ข้อเสียคือ แบนด์วิดท์ที่จำกัดเพราะดาวเทียมหนึ่งดวงให้บริการพื้นที่แทบทั้งทวีป โดยดาวเทียมค้างฟ้าแค่ 3 ดวงก็สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกเลยทีเดียว นอกจากนี้ ดาวความที่ดาวเทียมอยู่ไกล ความหน่วง (latency) จึงสูงมาก ทำให้การใช้งานไม่สะดวกนัก อีกทั้ง บริการนี้ ‘คนทั่วไปเข้าถึงไม่ง่ายนัก’ เนื่องจากเน้นการใช้งานแบบพาณิชย์มากกว่า ทำให้มีค่าบริการที่สูง ติดตั้งยุ่งยาก
จะเห็นว่าอินเทอร์เน็ตดาวเทียมนั้นมีจุดอ่อนที่ใหญ่มาก เมื่อเทียบกับ 4G-5G หรือไฟเบอร์ ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับ ‘Starlink’ โครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมของ ‘อีลอน มัสก์’ กันว่ามันพิเศษกว่าตรงไหน
รู้จัก Starlink :
Starlink นั้นเป็นอีกหน่วยธุรกิจของ ‘SpaceX’ บริษัทของอีลอน มัสก์ที่พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและจรวดที่ขึ้นไปแล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง โดยอีลอน มัสก์นั้นก่อตั้ง Starlink มาก็เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมให้กับ ‘ประชาชนทั่วไป’ โดยใช้ ‘ดาวเทียมวงโคจรต่ำ’ ซึ่งต่ำกว่าดาวเทียมทั่ว ๆ ไปที่ถึง 60 เท่า ซึ่งนั่นทำให้ Starlink แก้จุดอ่อนด้าน latency ให้ต่ำได้จนเหลือเพียง 20-40Ms เทียบเท่ากับอินเทอร์เน็ตบ้านเลยทีเดียว และแถมยังให้สปีดดาวน์โหลดของอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วที่ 50–150Mb/s
อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ดาวเทียมวงโคจรต่ำทำให้ Starlink ต้องใช้ดาวเทียมหลักหมื่นดวงถึงจะครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งตั้งแต่ปี 2015 จนปัจจุบัน Starlink ได้ปล่อยดาวเทียมไปแล้วกว่า 400 ดวง จากเป้าหมายที่จะมีดาวเทียมทั้งหมดถึง 42,000 ดวง
เคาะราคา 99 ดอลลาร์/เดือน :
ปัจจุบันประชากรโลกมีกว่า 7.6 พันล้านคน แต่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ 4.54 พันล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางพื้นที่ของโลก สัญญาณอินเทอร์เน็ตยังไม่ถึง ดังนั้น Starlink จะช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร้ข้อจำกัด ล่าสุด Starlink ก็ได้เคาะราคาค่าบริการแล้วที่ 99 ดอลลาร์หรือประมาณ 3,000 บาท แต่จะมีค่าอุปกรณ์เพิ่มเติมอีก 499 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15,000 บาท โดยปัจจุบันในอเมริกามีผู้ลงทะเบียนให้ความสนใจที่จะใช้บริการแล้วกว่า 700,000 รายเลยทีเดียว ส่วนประเทศไทยเองมีข่าวว่าจะเริ่มใช้งานได้ในปี 2022
กสทช. สั่งเบรกจริงหรือ? :
หลังจากที่มีข่าวว่าจะให้บริการในไทย ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ออกมาระบุว่า การให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมต่างชาติในประเทศไทย ต้องได้รับการอนุญาตจาก กสทช. ก่อนเริ่มให้บริการ โดยกรณีนี้ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเพื่อให้บริการในประเทศ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีผู้ยื่นขอรับอนุญาตเพื่อให้บริการดังกล่าวในประเทศไทย มีแต่เพียงการขอข้อมูลและปรึกษาการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมต่างชาติ เท่านั้น
ซึ่งทำให้หลายคนมองว่า กสทช. ออกมาสั่งเบรกบริการ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การขออนุญาตให้บริการเป็นเรื่องปกติของหลายประเทศไม่ใช่แค่ไทย ดังนั้น กสทช. ไม่น่าจะมาเบรกอะไร
ไม่ได้มีแค่ อีลอน มัสก์ที่ทำ :
ย้อนไปปี 2011 Google เปิดตัวโครงการ ‘Loon’ เพื่อส่งบอลลูนให้ลอยอยู่เหนือท้องฟ้าและควบคุมให้เคลื่อนที่อยู่ในบริเวณที่ยังขาดการเชื่อมต่อด้านอินเทอร์เน็ต อาทิ ในขุนเขา มหาสมุทร ทะเลทราย ขณะที่ Facebook เองก็มีโครงการ ‘Aquila’ ซึ่งทดลองส่งเครื่องโดรนให้ล่อนอยู่ในท้องฟ้าเป็นเวลานาน เพื่อส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล แต่ทั้ง 2 โครงการต่างก็เงียบหายไปตามกาลเวลา
นอกจากนี้ยังมี โครงการ ‘Project Kuiper’ ของ ‘Amazon’ ที่ต้องการสร้างเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) จำนวน 3,236 ดวงเพื่อให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตกับผู้คนในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างพิกัด 56 องศาเหนือถึง 56 องศาใต้ หรือระหว่างสกอตแลนด์และบริเวณอเมริกาใต้ ซึ่งคาดว่าครอบคลุมพื้นที่การใช้งานของประชากรกว่า 95% แต่โครงการดังกล่าวก็เงียบไปอีกเช่นกัน
มีความเป็นไปได้ว่าโครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมความเร็วสูงนั้นใช้เงินลงทุนมหาศาลเลยทำให้ต้องเบรกไป เพราะโครงการ Starlink ก็ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่ทางอีลอน มัสก์ก็คาดว่าจะทำเงินได้ถึงปีละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
สำหรับคนไทยก็รอดูแล้วกันว่าในปี 2022 จะได้ใช้บริการไหม สำหรับใครที่อยากลองใช้ก็อดใจรออีกสักนิดนะ
ที่มา positioning.com
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564