เอกชนแนะรัฐปิดจุดอ่อนอีอีซีเร่งดึงดูดการลงทุนแข่งกับเวียดนาม
เอกชน -นักวิชาการ ชี้เวียดนามแซงไทยด้านเศรษฐกิจจากความพร้อมด้านต่าง ๆแนะเร่งลดอุปสรรค สร้างแรงดึงดูดนักลงทุนหันลงทุนไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานหอการค้าไทย ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในขณะนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากการย้ายฐานการผลิตจากจีน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามาก เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามมีโนยายชัดเจนล่าสุดการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์ได้วางนโยบายด้านเศรษฐกิจ 5 ปี เน้นเรื่องอุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยพร้อมเปิดประเทศให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น มีการแก้ไขอุปสรรคที่เป็นปัญหาต่อการลงทุนทั้งกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆเพื่อเอื้อต่อการลงทุน รวมทั้งไฟเขียวให้แต่ละจังหวัดของประเทศมีการแข่งขันการพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองได้และกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัด ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความสบายใจ
ส่วนการเมืองในประเทศก็มีความต่อเนื่องไม่มีสะดุด ขณะที่การทำเอฟทีเอนั้นเวียดนามมี 17 ฉบับ ครอบคลุม 55 ประเทศ โดยเฉพาะการเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี ที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ทั้งที่มีความพร้อมน้อยกว่าไทย รวมทั้งการทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปหรืออียู ประกอบกับและอัตราแลกเปลี่ยนเงินดองในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาอ่อนค่า 4 % เทียบกับไทยที่แข็งค่าขึ้น 15% ซึ่งแตกต่างกันมาก แม้ว่าสหรัฐจะจับตาเวียดนามในฐานะเป็นประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงินก็ตาม รวมทั้งความพร้อมด้านแรงงานที่มีมาก ซึ่งเวียดนามไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวเลย ผิดจากประเทศไทยที่ต้องการแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก
“สิ่งเหล่านี้เอื้ออำนวยให้ประเทศเวียดนามพัฒนาเศรษฐกิจไปได้เร็วมาก และเติบโตมาก และเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตด้านอุตสาหกรรม โดยขณะนี้ไทยเองก็เข้าไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น ทั้งด้านพลังงาน ไฟฟ้า ปิโตรเคมี แม้เวียดนามจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อัตราขยายตัวด้านเศรษฐกิจโต 7% ขณะที่ไทยติดลบ 6 % จีดีพีก็โตต่อเนื่อง และตั้งเป้าใน 5 ปีข้างหน้าจะต้องโต 6-7%ต่อปี”
นายสนั่น กล่าวว่า ขณะนี้เวียดนามเป็นประเทศที่น่าลงทุนมาก โดยนักธุรกิจไทยต้องไปลงทุนในเวียดนามให้มากไม่ใช่เป็นการย้ายฐานการผลิตแต่เป็นการขยายฐานการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรส่งเสริมให้ไปลงทุนในต่างประเทศ ปัจจุบันมีบริษัทไทยประมาณ 600 รายที่เข้าไปลงทุน คาดว่าในอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ของเวียดนามจะมีแนวโน้มเติบโตมาก และอุตสาหกรรมเกษตรจะโตแบบก้าวกระโดดและมั่นคงมาก อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็เป็นประเทศที่นักลงทุนต้องการเข้ามาลงทุนไม่ต่างกับเวียดนาม เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่บรรยากาศดี ผู้คนอัธยาศัยดี มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม เป็นต้น และยังได้เปรียบในเรื่องการชายแดนที่ติดต่อกับ 4 ประเทศคือ เมียนมา กัมพูชา ลาวและ มาเลเซีย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงการค้าไปยังประเทศอินเดีย จีน เวียดนาม ได้อีก
สิ่งที่เป็นปัญหามากคือ เสถียรภาพทางการเมืองไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดความกังวลด้านนโยบาย การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทย (Doingbusiness) การเจรจาความตกลงซีพีทีพีพีที่ยังไม่คืบหน้า การทำเอฟทีเออื่น ส่วนอีอีซีที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลก็ดำเนินไปอย่างล่าช้า มีขั้นตอนยุ่งยากมากมาย และคงต้องปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป้าหมายหลังจากเกิดโควิด-19 เพราะประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ควรต้องมีด้านสุขอนามัย เทคโนโลยี เป็นต้น นอกจากนี้ในเรื่องเทคโนโลยีด้านไอทีก็ช้ามาเมื่อเทียบกับเวียดนามถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในการลงทุน เร่งพัฒนาเนชั่นแนล ซิงเกิ้ล วินโดว์ หรือ การผลักดันความสะดวกด้านศุลกากรว่าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ก็ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดและเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในประเทศไทย
“หากปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่เป็นอุปสรรค ทำให้นักลงทุนเกิดความสบายใจ มีความสะดวกสบาย ในการเข้ามาลงทุน พร้อมเร่งเจราซีพีทีพีพีเพื่อสร้างแรงจูงใจ และดึงดูดนักลงทุน ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งรัดเรื่องเหล่านี้และพยายามในการผลักดันหรือส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานประเทศด้วย”
นายสนั่น กล่าวว่า ไทยกับเวียดนามเป็นประเทศที่น่าลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพียงอยู่ตรงที่ประเทศไทยจะเหมาะสมกับการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทใด แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยคือ แรงงานขาดแคลน ซึ่งในอนาคตจะเป็นปัญหาใหญ่มากทำให้เสียเปรียบกับเวียดนาม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กลับมาฟื้นตัวจากผลกระทบโควิดที่ต้องใช้แรงงานถึง 7 แสนคน
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า เอฟทีเอทั้งที่ทำไปแล้วและกำลังดำเนินการเจรจาของไทยมีมากกว่าเวียดนาม ซึ่งเอฟทีเอบางตัวไทยก็ทำร่วมกับเวียดนามแต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างไทยกับเวียดนามคือ 2 ฉบับคือ ซีพีทีพีพี และเอฟทีเอเวียดนาม-ยุโรป ซึ่งทั้ง 2 ฉบับนี้ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามทิ้งห่างไทยไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอฟทีเอเวียดนาม-ยุโรป จะทำให้มูลค่าส่งออก ห่างจากประเทศไทยอีก 2 เท่าขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศก็มีการลงทุนมากมากกว่าไทยถึง 3 เท่า จากเหตุผลค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่าไทย และอีก 5 ปี โครงสร้างพื้นฐานของเวียดนามก็จะมีความพร้อม
ขณะที่เวียดนามจะใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอเวียดนาม-ยุโรป ในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0ซึ่งจะเติมเต็มอุตสาหกรรมที่อ่อนพัฒนาให้เข้มแข็งได้ คือ 1.อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร 2.ระบบโลจิสติกส์ และ3.การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งจะนำเทคโนโลยีของยุโรปมาพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของตนเองเพราะเวียดนามผลิตรถยนต์ภายใต้เบรนด์เวียดนาม
“ยิ่งเวียดนามอยู่ในซีพีทีพีพีก็ยิ่งทำให้เวียดนามห่างไกลจากไทยไปอีก หากพูดเช่นนี้ก็จะมีเสียงค้านว่าเราต้องเข้าร่วมซีพีทีพีพีใช่หรือไม่ ซึ่งผมไม่ได้บอกเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม แต่อยากบอกว่า การเข้าร่วมซีพีทีพีพี ของเวียดนามได้ประโยชน์มากมาย “
เมื่อเปรียบเทียบตัวชี้วัดบางตัว ระหว่างไทยกับเวียดนามพบว่า เวียดนามแซงไทยใน 3 เรื่องคือ การลงทุนหรือFDI มูลค่าการส่งออก และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ค่าจ้างที่ถูกกว่าทำให้ได้เปรียบกว่าไทย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของนโยบายที่ชัดเจนต่อเนื่อง ศักยภาพคนของเวียดนามมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ยุทธศาสตร์ดิจิทัลภายในคศ.2035 รวมทั้งระบบการบริหารงานด้านเศรษฐกิจที่มีรัฐวิสาหกิจหรือที่เรียกว่า VENA เฉพาะไปทำตลาด รับออเดอร์และนำออเดอร์มาให้ภาคการผลิตภายในประเทศ ขณะที่ประเทศไทยแตกต่างกันแบบต่างคนต่างทำโดยรายใหญ่สามารถเดินต่อไปได้ แต่ขนาดเล็กอย่างเอสเอ็มอีแทบจะไปไม่ได้
นายอัทธ์ กล่าวว่า สำหรับการลงทุนของต่างชาติในเวียดนามนั้น นักลงทุนรายใหญ่เป็นญี่ปุ่น เกาหลี และจีน โดยเวียดนามก็รับเทคโนโลยีจากประเทศเหล่านี้มาพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเอง โดยการลงทุนต่างชาติในเวียดนามแซงไทยไปแล้ว เนื่องจากการเมืองมีความต่อเนื่อง ค่าแรงถูก แรงงานพร้อม คนพร้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า ขณะนี้ยังไม่เห็นจุดอ่อนของเวียดนาม แต่ก็คงมีแค่เรื่องของการต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาเศรษฐกิจ
“ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศที่นักลงทุนอยากเข้ามาลงทุน ในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีจากเดิมมีพม่าด้วย แต่ขณะนี้สถานการณ์การเมืองในพม่ามีการเปลี่ยนแปลงอีก 2-3ปีกว่าจะสู่ภาวะปกติ ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศแรกที่นักลงทุนต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนเพราะไม่สิ่งใดที่ทำให้เกิดการสะดุดด้านเศรษฐกิจ”
ในส่วนของประเทศไทยจะต้องเร่งการปรับโครงสร้างภายในประเทศ โดยในภาคการเกษตรจะต้องปรับตัวจากการผลิตเพียงอย่างเดียวมาเป็นการพัฒนานวัตกรรมจากผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมต้องปรับตัวสู่เศรษฐกิจแบบใหม่หรือBCG จากนั้นเข้าสู่วงเจรจาเอฟทีเอ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564