ทำไม นครโฮจิมินห์ ถึงเป็น ขุมพลังของเวียดนาม
ทำไม นครโฮจิมินห์ ถึงเป็น ขุมพลังของเวียดนาม /โดย ลงทุนแมน
ปี 2020 ที่ทุกประเทศต่างมี GDP ที่ติดลบ เพราะวิกฤติโควิด 19
แต่ GDP ของเวียดนามถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตเกือบ 2%
และจะเติบโตต่อเนื่องไปถึง 7% ในปี 2021
โดยศูนย์กลางที่เป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเวียดนาม
ไม่ใช่เมืองหลวงอย่างกรุงฮานอย
แต่เป็นเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ คือ นครโฮจิมินห์ หรือ โฮจิมินห์ ซิตี
นครโฮจิมินห์ มีประชากร 8.4 ล้านคน เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของเวียดนาม
และครองสัดส่วน GDP เกือบ 1 ใน 4 ของประเทศ
เศรษฐกิจของเมืองแห่งนี้ ถูกคาดว่าจะเติบโตถึงปีละ 8% อย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้าซึ่งถือว่าเติบโตเป็นอันดับ 2 ของทวีปเอเชีย ที่นครโฮจิมินห์มีอะไร ถึงได้เป็นขุมพลังที่สำคัญของเวียดนาม? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
หากจะนึกถึงเมืองใหญ่ของต่างประเทศที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ มากที่สุด
“นครโฮจิมินห์” ของเวียดนามจะเป็นหนึ่งในนั้น ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง หากลากเป็นเส้นตรงจะเป็นแนวเดียวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นอกจากทำเลที่ตั้งที่อยู่ไม่ไกลแล้วนครโฮจิมินห์ ยังเป็นเมืองใหญ่ที่มีภูมิอากาศคล้ายกับกรุงเทพฯ มากที่สุดเมืองหนึ่งและมีทำเลที่ตั้งที่มีแม่น้ำไหลผ่านคล้ายกัน อีกทั้งจำนวนประชากรก็ใกล้เคียงกันอีกด้วย แต่โฮจิมินห์ ซิตี เป็นชื่อใหม่ที่เพิ่งถูกเปลี่ยนในปี ค.ศ. 1976เพราะชื่อเดิมของเมืองแห่งนี้ก็คือ “ไซ่ง่อน”
ไซ่ง่อนเคยเป็นเมืองหลวงของอาณานิคมโคชินไชน่าของฝรั่งเศส และมีอาคารบ้านเรือนสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่สวยงาม จนได้รับฉายาว่า “ปารีสแห่งตะวันออก”
แต่เมื่อได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1954 หลังสงครามอินโดจีน
เวียดนามเกิดความขัดแย้งจนแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ คือ เวียดนามเหนือ ซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ และเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นประเทศทุนนิยมเสรี ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
ซึ่งไซ่ง่อนก็ได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงของเวียดนามใต้ ด้วยความช่วยเหลือทางการเงินของสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงผู้คนที่อพยพมาจากเวียดนามเหนือทำให้เศรษฐกิจของไซ่ง่อนเจริญเติบโตอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1960s
แต่ความขัดแย้งที่ลุกลามจนกลายเป็นสงครามเวียดนามก็สร้างบาดแผลให้ไซ่ง่อน จนในที่สุดสงครามก็จบลงในปี ค.ศ. 1975 พร้อมกับความพ่ายแพ้ของเวียดนามใต้
หลังจากนั้น เวียดนามเหนือและใต้ ก็รวมกันเป็นประเทศเวียดนามและปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และกรุงฮานอยถูกเลือกให้เป็นเมืองหลวง
ไซ่ง่อนจึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “โฮจิมินห์ ซิตี” เพื่อเป็นเกียรติแด่ โฮจิมินห์ ประธานาธิบดีของเวียดนามเหนือ ซึ่งเป็นผู้นำการปฏิวัติพรรคคอมมิวนิสต์นั่นเอง
ในช่วงแรกของการรวมประเทศ ชาวเมืองโฮจิมินห์ โดยเฉพาะเหล่าคนมีฐานะจำนวนมากต่างพากันอพยพออกนอกประเทศ โดยหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญ ก็คือ สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เศรษฐกิจของเมืองเริ่มถดถอย และถูกซ้ำเติมด้วยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลกลาง ด้วยการวางแผนจากส่วนกลางที่กรุงฮานอย แทนการใช้ระบบตลาดเสรี
แต่หลังจากเวียดนามเปลี่ยนมาใช้นโยบาย โด่ย เหมย (Doi Moi) ในปี ค.ศ. 1986 ที่เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจมาใช้ระบบตลาดเสรี ด้วยความที่โฮจิมินห์ เป็นเมืองที่คุ้นเคยกับระบบตลาดเสรีมาก่อน เศรษฐกิจของเมืองจึงค่อยๆ กลับมาเติบโตอีกครั้ง
และด้วยจำนวนประชากรที่มาก บวกกับ ค่าแรงที่ยังถูก จึงดึงดูดให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง จนกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ
เมื่อรวมกับความช่วยเหลือจากชาวเวียดนามโพ้นทะเล ทำให้เศรษฐกิจยิ่งเติบโต จนนครโฮจิมินห์กลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินของเวียดนาม
และเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์แห่งเดียวของประเทศ คือ Ho Chi Minh City Stock Exchange ซึ่งถูกจัดตั้งในปี ค.ศ. 2000
ในปี 2019 นครโฮจิมินห์ มีขนาด GDP 2.3 ล้านล้านบาท
คิดเป็น 1 ใน 4 ของ GDP ประเทศเวียดนาม เมืองนี้มีสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม คือ สนามบิน Tan Son Nhat ซึ่งเป็นสนามบินระดับนานาชาติ ที่รองรับผู้โดยสารกว่า 40 ล้านคน และยังเป็นที่ตั้งท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ ท่าเรือไซ่ง่อน
ไม่ใช่เพียงแค่อดีต และปัจจุบันเท่านั้น นครโฮจิมินห์ยังเป็นขุมพลังแห่งอนาคตของเวียดนาม ด้วยแผนการผลักดันเมืองให้เป็นศูนย์กลางของธุรกิจเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งธุรกิจสตาร์ตอัป, E-Commerce และ Fintech อย่างเช่น การพัฒนาระบบการให้บริการของภาครัฐผ่านระบบ Cloud โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน iSCT ที่ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานบริการของรัฐ โดยเฉพาะนโยบายการค้า และผู้ใช้สามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงบริการของรัฐได้ตลอดเวลา
นอกจากพัฒนาการให้บริการแล้ว ทางเมืองยังได้ต่อยอดความท้าทาย
ด้วยการพัฒนาเขตเมืองใหม่ที่เรียกว่า “Thu Duc City”
ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเขตเมือง เพื่อปั้นให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค โดยสร้างระบบขนส่งมวลชน และถนนหนทาง เชื่อมเขตเมืองเก่าเข้ากับโครงการต่างๆ มากมายในเขตเมืองใหม่
อีกทั้งยังมีโครงการ Thu Thiem ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนเกาหลีใต้เป็นมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT การเงิน การดูแลสุขภาพ และความบันเทิง โดยหวังจะให้เป็นศูนย์กลางด้านการเงินและอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ และโครงการ Saigon Hi-tech Park หรือ SHTP ที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 9.13 ตารางกิโลเมตร โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางของภาคอุตสาหกรรม IT และเทคโนโลยี ปัจจุบันมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 200,000 ล้านบาท
โดยในปี 2019 เขต SHTP มีมูลค่าการส่งออก 420,000 ล้านบาท
คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของนครโฮจิมินห์
และขณะนี้ ก็กำลังมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ราว 2 ตารางกิโลเมตร และอยู่ไม่ไกลจาก SHTP เขตเมืองใหม่ Thu Duc City ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม โฮจิมินห์ ซิตี (VNUHCM) ที่มีนักศึกษาเกือบ 100,000 คน ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ที่จะคอยผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่ภาคการผลิตและบริการในเขตเมืองใหม่ ซึ่งคาดว่าจะรองรับแรงงานทักษะใหม่ได้ถึง 1 ล้านคน
โดยความหวังสูงสุดของเขตเมืองใหม่แห่งนี้ คือ การเป็นเสมือน “Silicon Valley” เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี ศูนย์กลางการเงินระดับประเทศ และเชื่อมต่อกับเขตเมืองเก่าเพื่อให้นครโฮจิมินห์ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาค
ถึงแม้ในปี 2020 จะเป็นปีที่เลวร้ายของเมืองหลายแห่งทั่วโลก
แต่สำหรับนครโฮจิมินห์แล้ว กลับมีโครงการลงทุนใหม่มากกว่า 598 โครงการ
และยังมีการขยายตัวของเขตนิคมอุตสาหกรรมซึ่งได้รับประโยชน์จากการย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศจีนท่ามกลางความขัดแย้งของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ก็เป็นที่น่าติดตามว่า ด้วยแผนการพัฒนาครั้งใหญ่นครโฮจิมินห์ จะเติบโตได้มากอีกแค่ไหนในอนาคต แต่หากจะกล่าวถึงเมืองสักแห่งที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งปี 2020 “โฮจิมินห์ ซิตี” จะเป็นหนึ่งในนั้น และเมืองนี้จะเป็นขุมพลังที่สำคัญของประเทศเวียดนาม
ที่มา ลงทุนแมน
วันที่ 2 มกราคม 2564