อย่าให้ "เศรษฐกิจโลก" ฟื้นตัวแบบกระต่ายกับเต่า

แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ความเร็วในการฟื้นของแต่ละประเทศที่ไม่เท่ากัน ทำให้กลุ่มที่ฟื้นตัวเร็วหรือพวกกระต่าย กับกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวช้าหรือพวกเต่า อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหลังโควิดเป็นเศรษฐกิจสองความเร็ว
 
ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดตอกย้ำว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว แต่ความรวดเร็วในการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ทำให้การฟื้นตัวจะแบ่งประเทศในเศรษฐกิจโลกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ฟื้นตัวเร็ว หรือพวกกระต่าย กับกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวช้า หรือพวกเต่า ซึ่งช่องว่างระหว่างกระต่ายกับเต่าจะมีผลอย่างสำคัญต่อตลาดการเงินโลกและความยั่งยืนของการฟื้นตัว นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
 
ข้อมูลล่าสุด เช่น การจ้างงานและการผลิตในสหรัฐที่ในเดือน ก.พ.มีการจ้างงานใหม่นอกภาคเกษตรมากถึง 379,000 ตำแหน่ง และตัวเลขการส่งออกของจีนที่ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ขยายตัวกว่า 60% จากฐานที่ต่ำปีที่แล้ว ข้อมูลเหล่านี้ชี้ว่า โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังมีต่อเนื่อง ขับเคลื่อนโดย 3 ปัจจัยสำคัญ
 
1). การฉีดวัคซีน ที่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมีการฉีดไปแล้วมากกว่า 334 ล้านโดส (Dose) ใน 121 ประเทศ เฉลี่ย 8.41 ล้านโดสต่อวัน ห้าประเทศที่มีการฉีดวัคซีนมากสุดคือ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป อินเดีย และอังกฤษ และที่มากสุดในแง่อัตราส่วนต่อประชากร 100 คน ก็เช่นอิสราเอล ยูเออี มัลดีฟส์ อังกฤษ บาห์เรน และสหรัฐ
 
ผลของวัคซีนเบื้องต้นในแง่ประสิทธิภาพออกมาค่อนข้างดี พร้อมตัวเลขการระบาดใหม่และผู้เสียชีวิตที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.ที่แล้ว ทำให้หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้มากขึ้น ความเข้าใจขณะนี้คือแม้คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนจะยังสามารถแพร่เชื้อได้ แต่ยิ่งฉีดวัคซีนมาก โอกาสที่จะลดการระบาดก็จะมีมาก ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะยิ่งมีมากขึ้น
 
2). มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศใหญ่ เช่น สหรัฐ ที่รัฐบาลได้ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่กว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน ขณะที่จีนก็จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไปแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว การฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของประเทศหลักเหล่านี้จะสำคัญมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
 
3). กำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ถูกออมไว้ไม่ใช้จ่าย (Pent Up Demand) ในช่วงโควิด ที่จะกลับมาใช้จ่ายเมื่อการระบาดลดลง สำนักข่าวบลูมเบิร์กประเมินว่าในช่วงโควิดระบาด การออมทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นมากถึง 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นเงินที่รอใช้จ่ายที่มาจากรายได้และเงินโอนจากภาครัฐที่ออมไว้ ยังไม่ใช้จ่าย รวมถึงเงินที่ประหยัดได้จากการไม่ท่องเที่ยวปีที่แล้ว การใช้จ่ายเงินเหล่านี้จะมีผลอย่างสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
 
สะท้อนปัจจัยและข้อมูลดังกล่าว หลายองค์กรได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ขึ้น ล่าสุดโออีซีดีปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ให้ขยายตัวร้อยละ 5.6 และร้อยละ 4.0 ปีหน้า ที่สำคัญ ตลาดการเงินปรับตัวรับสัญญาณเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อเริ่มมีการฉีดวัคซีน เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ได้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในทุกระยะเวลาการกู้ยืม (Tenure) ชี้ว่าต้นทุนการกู้เงินในอนาคตจะแพงกว่าปัจจุบัน 
 
การเพิ่มสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวส่งผลให้ราคาสินทรัพย์อื่นๆ ในตลาดการเงินปรับตัวตาม (Asset Repricing) เพื่อให้ราคาสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานและความเสี่ยงที่ได้เปลี่ยนไป เราจึงเห็นราคาหุ้นและทองคำปรับลดลงจากระดับที่สูงมากเกินปัจจัยพื้นฐานปีที่แล้ว เราเห็นราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นตามอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การปรับตัวของราคาเหล่านี้สะท้อนตลาดการเงินโลกที่กำลังปรับตัวเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นของเศรษฐกิจโลก
 
แต่แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่น่ายินดี ความแตกต่างในการฟื้นตัวที่จะห่างกันมาก ระหว่างประเทศที่จะฟื้นตัวได้เร็ว เช่น กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการได้ฉีดวัคซีนก่อน สามารถกระจายการฉีดไปสู่ประชากรได้ในจำนวนมาก ทำให้การระบาดลดลง และภาครัฐมีทรัพยากรการคลังที่พร้อมจะใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงภาคครัวเรือนมีกำลังซื้อสะสมไว้ นี่คือประเทศกลุ่มกระต่ายที่จะฟื้นตัวได้เร็ว ฟื้นตัวได้ก่อน และจะสามารถหาประโยชน์จากการฟื้นตัวได้ก่อนประเทศอื่นๆ
 
อีกกลุ่มคือประเทศที่ฟื้นตัวช้ากว่า ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้เร็วพอและฉีดให้ประชากรในจำนวนที่มากพอที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไม่มีทรัพยากรที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจบอบช้ำมากจากพิษของโควิดปีที่แล้ว เพราะพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศมากเกินไป เช่น พึ่งการท่องเที่ยว จุดอ่อนเหล่านี้จะทำให้ประเทศกลุ่มนี้จะฟื้นตัวช้า เป็นประเทศกลุ่มเต่าที่การฟื้นตัวตามประเทศกลุ่มแรกไม่ทัน
 
ไอเอ็มเอฟได้แสดงความห่วงใยในประเด็นนี้ โดยประเมินว่ามี 52 ประเทศจาก 110 ประเทศที่การฟื้นตัวจะตามทันประเทศอุตสาหกรรม แต่อีก 58 ประเทศจะตามไม่ทัน ความแตกต่างนี้ทำให้เศรษฐกิจโลกหลังโควิดอาจเป็น “เศรษฐกิจสองความเร็ว” คือ มีประเทศกลุ่มกระต่ายที่ฟื้นตัวเร็วและเกาะกลุ่มกันเติบโตโดยสร้างพื้นที่ปลอดภัยปลอดโรคร่วมกัน เช่น วัคซีนพาสปอร์ต เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจร่วมกัน ทิ้งห่างประเทศกลุ่มเต่าที่จะฟื้นตัวช้า ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ กลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยในสายตานักลงทุน เกิดเงินทุนไหลออก และกลายเป็นจุดอ่อนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในที่สุด
 
ด้วยเหตุนี้จึงสำคัญมากที่วัคซีนจะต้องมีการกระจายอย่างทั่วถึงและทันเวลาในทุกพื้นที่ของโลก เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดเศรษฐกิจโลกสองความเร็ว และเป็นหน้าที่ของประเทศกลุ่มแรกที่มีฐานะดีกว่าที่ต้องช่วยเหลือ เพราะถ้าไม่ทำเศรษฐกิจโลกก็จะไม่ปลอดจากภัยของโควิด-19 อย่างสิ้นเชิงตราบใดที่การระบาดยังมีอยู่ในโลก เป็นความเสี่ยงร่วมกันของทุกประเทศที่การระบาดอาจปะทุขึ้นอีก
 
นี่คือแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจากนี้ไปถ้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกขาดความสมดุล คือเป็นเศรษฐกิจโลกสองความเร็วแบบกระต่ายกับเต่า ในเรื่องนี้ทางออกที่ปลอดภัยคงเหมือนในนิทานอีสป คือ กระต่ายจะต้องไปช้าหน่อยให้เต่าตามทัน เพื่อลดช่องว่าง ลดความไม่สมดุล เพื่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกและความยั่งยืนของการฟื้นตัว
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 มีนาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)