"เวียดนาม" ทะยานสู่ "เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย"

ในบรรดา 10 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ต่างก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด 19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ลากยาวมาถึงปี 2564 ซึ่งแต่ละประเทศต่างมีมาตรการรับมือโรคระบาดและการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุดและสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วที่สุด
 
โดยในชาติอาเซียน ‘เวียดนาม’ ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีการจัดการได้ดีที่สุด และดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเวียดนามที่ได้รับผลกระทบน้อย ทั้งกลับมาโตได้เร็วโดยในปี 2563 เติบโตอยู่ที่ 2.91% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 7% แต่ก็ถือว่าเป็นเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ GDP โตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่กำลังดิ่งเหว
 
ความสำเร็จในการควบคุมโรคอุบัติใหม่ครั้งนี้ คุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ ผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ สาขาประเทศเวียดนาม วิเคราะห์ว่า เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์การทำงานของรัฐบาลเวียดนามที่แก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก ทำให้เวียดนามเนื้อหอมสุดๆ ในยามนี้ ที่ทุกประเทศต่างหันหัวรบเข้าไปลงทุนด้วยมากที่สุด และที่สำคัญประเทศเวียดนามไม่ใช่คู่ขัดแย้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริการกับจีนเกี่ยวกับเก็บภาษีศุลกากร ทำให้นักลงทุนนานาชาติโยกย้ายฐานการผลิตและลงทุนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปทั่วโลกได้อย่างไม่เป็นอุปสรรค
 
ดังนั้นเมื่อมองภาพรวมประเทศเวียดนามหลังจากผ่านพ้นโรคโควิด คุณธาราบดี จึงยกให้ประเทศเวียดนามเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และมีศักยภาพการเติบโตในระยะยาวเพราะความมีเสถียรภาพทางการเมือง เข็มทิศพัฒนาประเทศมีเป้าหมายชัดเจน ที่รัฐบาลเวียดนามเร่งผลักดันการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจคู่ขนาน เพื่อความก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ โดยพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนทุกมิติจากต่างประเทศให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ
 
 
ขณะเดียวกันรัฐบาลเวียดนามยังได้ทำข้อตกลงการค้าทั่วโลก ไม่ว่าจะทำข้อตกลง FTA กับยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงเข้าร่วมใน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก สร้างความได้เปรียบให้กับประเทศเวียดนามอย่างมาก
 
วัยหนุ่มสาวตัวเร่งผลักดันเศรษฐกิจเวียดนามเติบโต :
 
ปัจจุบันประชากรของประเทศเวียดนามที่มีอยู่มากกว่า 96 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวที่เริ่มทำงานถือว่ามีกำลังซื้อสูงขึ้น ส่งผลทำให้การบริโภคภายในประเทศเติบโตแบบก้าวกระโดด และมีแนวโน้มที่เติบโตมากยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยหลักที่มีส่วนช่วยเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามให้เติบโตได้มากขึ้น
 
ขณะเดียวกันเศรษฐกิจมีความสมดุลจากเศรษฐกิจภายในและภายนอกที่เสริมซึ่งกันและกัน ส่วนการที่นักธุรกิจต่างชาติรวมทั้งไทยจะเข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนามนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะมุมมองของนักธุรกิจไทยต้องศึกษาให้ถ่องแท้ เพราะพฤติกรรมและวัฒนธรรมของชาวเวียดนามมีความแตกต่างจากลาว กัมพูชา และเมียนมา ที่คนไทยคุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งกฎเกณฑ์ของทางการเวียดนามค่อนข้างเข้มงวดมาก เพราะรัฐบาลปัจจุบันมีความตั้งใจในการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาด
 
แนะลงทุนเวียดนามต้องศึกษาถี่ถ้วน-ผูกพันธมิตรท้องถิ่น :
 
หากนักธุรกิจไทยสนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนามนั้น คุณธาราบดี แนะนำว่าควรเดินทางไปศึกษาดูลู่ทางด้วยตนเองอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 30 วัน ตามที่รัฐบาลอนุญาตให้ต่างชาติอยู่ในประเทศได้ จากนั้นหมั่นลงพื้นที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม วัฒนธรรม ของกลุ่มผู้บริโภคว่าต้องการสินค้าแบบไหน สินค้าไทยมีจุดเด่น มีจุดด้อยอย่างไรเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
 
ที่สำคัญต้องศึกษากฎหมายข้อบังคับจนเข้าใจ เมื่อรู้กฎกติกาแล้วการเข้าไปลงทุนจึงไม่น่ามีปัญหา จากนั้นต้องผูกพันธมิตรคู่ค้าท้องถิ่นเพื่อความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งถือว่าเป็นใบเบิกทางทำธุรกิจที่ดี่สุด โดยปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่มีความสำคัญในการเข้ามาลงทุน แต่การลงทุนในเวียดนามนั้นต้องมีความอดทนเป็นเลิศ เพราะส่วนใหญ่กว่าที่จะสร้างกำไรได้อาจต้องใช้ระยะเวลาราว 3-4 ปี หลังจากนั้นสร้างผลกำไรระยะยาว ถือว่าเป็นประเทศที่มีความท้าทายในการลงทุน เนื่องจากต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง อัตราดอกเบี้ยของเวียดนามสูงกว่าไทย เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือนในเวียดนามอยู่ที่ 3% ต่อปี และ 12 เดือนอยู่ที่ 6-7% ต่อปี ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นไปมากกว่า 9% ต่อปีเลยทีเดียว
 
ส่องธุรกิจน่าลงทุน “พลังงานทดแทน-สินค้าอุปโภค-อุตสาหกรรมการผลิต” :
 
หลังโรคโควิดผ่านพ้นไปธุรกิจที่น่าสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนาม คุณธาราบดี ยังมองว่าเป็นธุรกิจที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเป็นหลัก เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งรัฐบาลต้องการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนให้มากขึ้น เพื่อทดแทนพลังงานจากถ่านหินที่สร้างมลพิษ และ PM 2.5 จึงสนับสนุนการลงทุนพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์และลม โดยมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 80,000-90,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 48,000 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม
 
ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคและบริโภค ยังมีโอกาสขยายตลาดในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง แต่นักลงทุนไทยต้องรีบเข้ามาเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับชาวเวียดนามก่อน โดยธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภคจะเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัว สอดคล้องไปกับการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศเวียดนามที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ด้วยจำนวนประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวทำงาน มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีความต้องการใช้สินค้าในกลุ่มนี้มาก
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการส่งสินค้าไปจำหน่ายในยุโรปและสหรัฐฯ ที่น่าสนใจมากที่สุด คือเข้าไปตั้งโรงงานผลิต เพราะค่าแรงถูกกว่าไทยมาก อีกทั้งยังได้แรงสนับสนันจากรัฐบาลเวียดนามทำ FTA ในการส่งออกไปยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้ผู้ประกอบการผลิตลดต้นทุนลงได้ และช่วยธุรกิจให้มีกำไรมากขึ้น
 
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาจวบจนปี 2564 เวียดนามสามารถเปลี่ยนจากประเทศยากจนไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง โดยในปี 2562 มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 2,700 ดอลลาร์สหรัฐ และที่สำคัญเวียดนามกำลังทะยานสู่ “เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย” ความแข็งแกร่งของเวียดนามทำให้หลายคนมองว่าจะแซงหน้าประเทศไทยได้ไม่เกิน 2-3 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายหรือเป็นไปไม่ได้
 
เพราะเวียดนามที่มุ่งสร้างประเทศด้วยอุตสาหกรรมและการลงทุนตรงจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง GDP ของประเทศย่อมขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่หากมองการเติบโตที่มีความยั่งยืน เวียดนามอาจจะยังต้องการเวลาอีกสักระยะในการปรับเปลี่ยนจากประเทศที่เป็นฐานการผลิต ไปสู่ประเทศที่สามารถเติบโตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง 
 
ที่มา bangkokbanksme.com
วันที่ 16 มีนาคม 2564   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)