กระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง มาตรการที่ต้องเตรียม

การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสิ่งจำเป็นในขณะนี้ ล่าสุดนายกฯจึงสั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจเตรียมมาตรการในช่วงครึ่งปีหลังให้มีความต่อเนื่อง นับเป็นมาตรการกลุ่มท้ายของการใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ จึงจำเป็นต้องใช้งบฯให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
 
ถึงแม้ว่าสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประมาณการเศรษฐกิจของปี 2564 ไว้ที่ 2.5-3.5% และมีค่ากลางที่ 3% โดยมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งจากงบประจำและเงินกู้ แต่การที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ต้องมีแรงขับดันจากทุกฝ่ายเต็มที่และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง
 
การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นกลไกหลักในขณะนี้ โดยเฉพาะการกระตุ้นการบริโภคที่ดำเนินการได้เร็ว แต่ต้องใช้งบประมาณรัฐจำนวนมากในการกระตุ้น และต้องใช้จ่ายงบประมาณให้ตรงจุดเพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณได้ประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งที่มามีโครงการลักษณะ “ร่วมจ่าย” เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคได้มาก และเงินเข้าถึงเศรษฐกิจฐานราก เช่น ผู้ค้ารายย่อย รวมทั้งช่วยสนับสนุนสังคมไร้เงินสดได้ดี
 
เป็นเรื่องดีที่ช่วงที่ผ่านมา สศช.ควบคุมการเบิกจ่ายงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 อย่างรัดกุมบนสมมติฐานการระบาดรอบใหม่ ซึ่งภายหลังไม่มีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยหลายเดือน แต่มีการระบาดรอบใหม่ต้นปี 2564 ทำให้ต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมทำให้ปัจจุบันยังมีงบประมาณฟื้นฟูเหลือ
จึงไม่น่าแปลกใจที่นายกรัฐมนตรีจะรีบสั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อให้การดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการถูกเทน้ำหนักที่การกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะการต่ออายุมาตรการ “คนละครึ่ง” และมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งเป็นมาตรการที่ประชาชนร่วมจ่ายและได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกฝ่าย รวมทั้งความพยายามจูงใจให้ผู้มีเงินออมออกมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น
 
มาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการกลุ่มท้ายของการใช้เงินตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะถ้ามีการระบาดแบบรุนแรงที่ต้องชัตดาวน์ประเทศ อาจจะมีเงินไม่เพียงพอที่จะเยียวยาหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งถึงเวลานั้นอาจต้องจัดหาวงเงินใหม่เข้ามา จึงทำให้รัฐบาลต้องดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เต็มที่ และที่สำคัญต้องสร้างความร่วมมือภายในสังคมให้ได้ เพื่อให้ทุกคนให้ความร่วมมือในการแก้วิกฤติของประเทศรอบ
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 23 มีนาคม 2564
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)