ปี 2028 ใครจะครองโลก

จับ 5 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนที่สหรัฐในปี 2028 ทั้งในด้านเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับความแข็งแกร่งทางกำลังทหาร และทำให้โลกต้องเปลี่ยนขั้วอำนาจ 
 
คำว่า “เรากำลังอยู่ในประวัติศาสตร์” เป็นความจริงแท้ ไม่ว่าจะพิจารณาจากภาพเศรษฐกิจ สังคม ภูมิประชากร สิ่งแวดล้อม การเมืองและเทคโนโลยี ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่น่าสนใจ และเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านทั้งสิ้น
 
แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ ในอีก 1-2 ทศวรรษนี้ กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของมหาอำนาจโลกระหว่างสหรัฐและจีนในปัจจุบัน แม้ว่านักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ภายในปี 2028 เศรษฐกิจจีนจะขึ้นมาใหญ่เป็นอันดับหนึ่งแทนที่สหรัฐ พร้อมๆ กับความแข็งแกร่งทางกำลังทหาร และทำให้โลกต้องเปลี่ยนขั้วอำนาจ 
 
แต่ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกหลังจากที่รับตำแหน่ง ไบเดนประกาศชัดเจนว่าเขาจะไม่ยอมให้จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งแทนที่สหรัฐ และจะมีการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ (New paradigm) ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สหรัฐยังครองความเป็นหนึ่งได้ตลอดช่วงที่เขายังอยู่ในอำนาจ (โดยประกาศว่าพร้อมจะอยู่ถึง 2 สมัย)
 
ในส่วนของผู้เขียน มองว่าการที่จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนที่สหรัฐในปี 2028 ได้หรือไม่นั้น มี 5 ปัจจัยที่ต้องจับตา ดังนี้
 
1). ปัจจัยด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจจีนจะยังแซงสหรัฐในปี 2028 ได้หรือไม่ โดยขึ้นอยู่กับ 2 เงื่อนไขสำคัญ
 
เงื่อนไขแรก
สหรัฐต้องทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจ (ที่รวมเงินเฟ้อหรือ Nominal GDP) เกิน 4% ต่อปีต่อเนื่องในทศวรรษนี้ (คือกลับไปทศวรรษ 2000-2010 ที่ขยายตัวประมาณ 3.9% ขณะที่ทศวรรษล่าสุดอยู่ที่ 3.4%) จากการสร้างสาธารณูปโภคขนานใหญ่ที่นำไปสู่การขยายตัวของผลิตภาพโดยรวม ซึ่งไม่ง่าย และต้องพิจารณาจากมาตรการโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านดอลลาร์ของไบเดนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะต้องเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการผลิต เช่น โครงสร้างด้านโทรคมนาคม สร้าง 5G infrastructure เป็นหลัก
 
เงื่อนไขที่สอง 
คือ เศรษฐกิจจีนต้องเติบโตต่ำกว่าปีละประมาณ 7% ต่อเนื่องเป็น 1 ทศวรรษ ซึ่งไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แม้ว่าในทศวรรษล่าสุด เศรษฐกิจจีน (รวมเงินเฟ้อ) จะขยายตัวเฉลี่ย 9.4% ก็ตาม (ลดลงจาก 17.7% ในทศวรรษก่อน) สาเหตุที่จีนอาจโตต่ำกว่า 7% ในระยะถัดไปได้ เป็นเพราะประชากรจีนเริ่มสูงวัย ทำให้กำลังแรงงานในระยะต่อไปลดลง ขณะที่เทคโนโลยีของจีนกำลังอยู่ในระยะกลาง โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เป็น Mass production
 
หากเปรียบเทียบแล้ว แม้เทคโนโลยีในจีนจะพัฒนาได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว แต่เทคโนโลยีขั้นสุดยอด (Cutting edge) ยังอยู่กับสหรัฐ ดังนั้น การที่จีนจะชนะสหรัฐได้ต้องพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นใหม่ให้รุดหน้าเกินสหรัฐให้ได้ รวมถึงลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากทั่วโลก โดยเฉพาะในประเด็นรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ซึ่งคืออนาคต
 
2). ปัจจัยด้านความมั่นคง โดยประเด็นสำคัญคือ จะเกิดสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐในดินแดนไต้หวันในปี 2027 ตามที่ พล.ร.อ.ฟิลิป เดวิดสัน ผู้บังคับการกองเรือรบในลุ่มน้ำ อินโด-แปซิฟิก ทำนายหรือไม่ และหากเกิดขึ้น ใครจะชนะสงครามนั้น
 
จะเห็นว่าพัฒนาการด้านความมั่นคงทั้งหลายของจีนในช่วงระยะหลัง ทั้งในฮ่องกง อินเดีย และในทิเบต เป็นการรวบอำนาจและทดลองถึงแสนยานุภาพทางการทหารและความมั่นคงของตนเองทั้งสิ้น ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนแล้ว ทั้งหมดนี้คือการกรุยทางสู่การเข้ายึดไต้หวัน อันเป็นหลักการจีนเดียว (One China) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งเดียวในใจผู้นำจีนทุกยุคโดยเฉพาะสี จิ้นผิง
 
ณ ปัจจุบัน แสนยานุภาพทางการทหารของจีนรุกหน้ามาก มีขีปนาวุธตงเฟิง 21D (DF-21D) หรือที่มีชื่อว่าเพชฌฆาตเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งเป็นขีปนาวุธวิสัยกลาง สามารถทำลายล้างเรือบรรทุกเครื่องบิน จนถึงเรือดำน้ำ รวมถึงมีเครื่องบินรบ และเรือรบมากกว่าสหรัฐที่ประจำการในน่านน้ำนี้ถึงกว่า 5 เท่าและ 9 เท่าตามลำดับ แม้แต่ทรัมป์ก็เคยมองว่า หากเกิดสงครามไต้หวันระหว่างจีนและสหรัฐแล้ว เป็นไปได้สูงที่จีนจะชนะสงคราม ดังนั้น คำถามสำคัญคือหากจีนบุกยึดไต้หวัน สหรัฐพร้อมรบเพื่อปกป้องไต้หวันหรือไม่ แล้วถ้ารบ จะชนะหรือไม่
 
3). ปัจจัยด้านพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหากความรุนแรงทางการทหารระหว่างจีนและสหรัฐจะเกิดขึ้นแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็น่าจะเป็นสมรภูมิ ดังนั้น การที่สหรัฐจะยังคงเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ จะต้องมีพันธมิตรด้านความมั่นคงสำคัญ ซึ่งเป็นที่มาของ Quad หรือภาคี 4 ฝ่ายต้านจีน อันได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ที่จะเป็นการกรุยทางสู่การสร้างนาโตในเอเชีย ขณะที่ผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สหรัฐก็สร้างผ่าน Blue Dot Network อันเป็นความร่วมมือด้านการสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
 
ทั้งสองความร่วมมือถูกสร้างมาเพื่อต่อกรกับกลยุทธ์ของจีน ที่สร้างผ่านโครงการ Belt and Road Initiatives (BRI) ซึ่งผู้เขียนมองว่าการที่สหรัฐจะผลักดันให้ Quad เติบโตและต่อกรกับ BRI ได้ จะต้องดึงอาเซียนเป็นส่วนร่วม ซึ่งไม่ง่าย เนื่องจากอาเซียนต้องสร้างสมดุลระหว่าง 2 มหาอำนาจ
 
4). การผลักดันเขตการค้าเสรี โดยหากสหรัฐจะกลับเข้ามามีอิทธิพลในด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเอเชียได้นั้น สหรัฐจะต้องกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ TPP และดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมได้มากขึ้น ทดแทนจีนที่เข้ามามีอิทธิพลด้านการค้าในอาเซียนผ่านเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China FTA : ACFTA) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ RCEP ในส่วนของจีน
 
5). การบริหารจัดการฟองสบู่เศรษฐกิจทั้งในจีนและสหรัฐ โดยในปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนเผชิญกับปัญหาฟองสบู่จากภาคอสังหาริมทรัพย์จากบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่น และจากบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ ซึ่งกำลังมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ หลังจากที่ทางการเริ่มเข้ามาคุมการปล่อยสินเชื่อที่ทำให้หนี้ประชาชาติทั้งประเทศสูงกว่า 285% จีดีพี
 
ในขณะเดียวกัน สหรัฐก็กำลังจะเผชิญกับปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงถัดไป หลังจากที่ธนาคารกลาง (Fed) กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาลผ่านการลดดอกเบี้ยเหลือ 0-0.25% และทำ QE ถึงกว่าเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ จนทำให้เงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง และทำให้หลายฝ่ายมองว่ากำลังจะนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ขนาดใหญ่และอาจแตกได้ในระยะต่อไป
 
ประเด็นสำคัญคือ ทางการของทั้งสองประเทศจะบริหารจัดการเศรษฐกิจตัวเองในยุคหลังโควิดอย่างไร ไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่แตกจนนำไปสู่วิกฤติ 
 
ภาพทั้งหมดบ่งชี้ว่า ในระยะต่อไประหว่างการแข่งขันของ 2 มหาอำนาจจะมีสูงมากจนทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และความมั่นคง
 
สองช้างสารจะรบกันในช่วง 8 ปีต่อจากนี้ หญ้าแพรกทั้งหลาย โปรดพึงระวัง
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 5 เมษายน 2564  

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)