เวียดนามเล็งส่งออกผลไม้ 3 แสนล้าน 4 FTAใหญ่ดันชิงได้เปรียบไทย
เวียดนามตั้งเป้าส่งออกผักและผลไม้ 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 แสนล้านบาทภายในปี 2573 หลัง 4 เอฟทีเอใหญ่มีผลบังคับใช้ ช่วยสร้างแต้มต่อเพิ่ม ชิงได้เปรียบไทย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. /ทูตพาณิชย์) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รายงานโดยอ้างอิงสื่อของเวียดนามระบุว่านาย Dang Phuc Nguyen เลขาธิการของสมาคมผลไม้และผักเวียดนามได้กล่าวว่า ข้อตกลงการค้าเสรี(FTA) เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี EU - Viet Nam (EVFTA) ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการเวียดนามในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ในปี 2564
ทั้งนี้ช่วง 2 เดือนแรกของปี2564 การส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดจีนโดยมีมูลค่าประมาณ 352.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 62.5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม
การเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังตลาดจีนเป็นผลมาจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากตลาดจีนแล้วยังมีตลาดหลักอื่น ๆ สำหรับผักและผลไม้ของเวียดนาม ได้แก่สหรัฐอเมริกา ไทย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ไปยังไต้หวัน ออสเตรเลียและมาเลเซียเพิ่มขึ้นอย่างมาก มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดไต้หวันประมาณ 12.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.1 ตลาดออสเตรเลียประมาณ 11.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 และตลาดมาเลเซียมูลค่า 9.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนข้อตกลงการค้าเสรี UKFTA (เวียดนามและสหราชอาณาจักรลงนามความตกลงการค้าเสรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021) จะสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคตเมื่อข้อตกลงมีผลบังคับ โดยใช้มากกว่าร้อยละ 94 ของกลุ่มภาษีสำหรับผักและผลไม้ทั้งหมด 547 รายการจะมีอัตราภาษีร้อยละ 0
ผลไม้หลายอย่าง เช่น ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ แก้วมังกร และสับปะรด จะมีข้อได้เปรียบในการเข้าถึงตลาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศ คู่แข่ง เช่น บราซิล ไทย และมาเลเซียยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี FTA กับสหราชอาณาจักร
นายกรัฐมนตรีของเวียดนามได้อนุมัติโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ในช่วงปี 2564 - 2573 มีเป้าหมายภายในปี 2573 การส่งออกผักและผลไม้จะมีมูลค่า 8,000 - 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 2.4-3 แสนล้านบาท คำนวณที่ 30 บาทต่อดอลลาร์)โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์ผักผลไม้แปรรูปจะคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ขึ้นไป กำลังการผลิตผักและผลไม้แปรรูปประมาณ 2 ล้านตันต่อปีดึงดูดโครงการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปผักผลไม้ ขนาดกลางและขนาดใหญ่ประมาณ 50- 60 โครงการ รวมทั้งพัฒนาวิสาหกิจบางรายให้มีความทันสมัยระดับภูมิภาคและระดับสากล โดยมีความสามารถในการแข่งขันสูง
นอกจากนี้ภาคเกษตรจะส่งเสริมการแปรรูปผักและผลไม้ในเชิงลึกและมุ่งมั่นที่จะเพิ่มมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปีในช่วงปี 2564-2573
สคต. ณ กรุงฮานอย ชี้ว่าเวียดนามมีศักยภาพในการผลิตผลไม้โดยผลผลิตประมาณ 12.6 ล้านตัน และผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นโอกาส สำหรับนักลงทุนไทยที่มีความสามารถด้านการแปรรูปผลไม้และมีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง สามารถจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลไม้ใน เวียดนาม เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ ที่เวียดนามลงนาม
นอกจากนี้จากข้อตกลง UKFTA ซึ่งจะยกเลิกภาษีในสัดส่วนร้อยละ 94 ของรายการสินค้าผักผลไม้ทั้งหมดของเวียดนาม อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าผักผลไม้ของไทยไปยังตลาดอังกฤษเนื่องจากต้องพบกับการแข่งขันด้านราคา
ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ในปี 2563 ไทยมีการส่งออกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งมูลค่า 128,337 ล้านบาท ขยายตัว +13.45% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนช่วง 2 เดือนแรกปี 2564 มีการส่งออกมูลค่า 14,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ จีน ฮ่องกง เวียดนาม สหรัฐฯ และมาเลเซีย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 18 เมษายน 2564