หอการค้าไทยถก 40 CEO หนุนรัฐกระจายวัคซีนสกัด "โควิด"
หอการค้าไทย ถกซีอีโอเอกชนไทย รับมือการระบาดโควิดรอบใหม่ เน้น 4 แผนการกระจายวัคซีน เชื่อมการทำงานภาครัฐและเอกชน หวังสกัดการระบาด ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ในวันที่ 19 เม.ย.2564 หอการค้าไทยจะมีการประชุมร่วมระหว่างกรรมการหอการค้าไทยและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัทใหญ่ของไทย กว่า 40 บริษัท จากทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น กลูเกิ้ล เฟซบุ๊ก ไลน์ ไอบีเอ็ม กลุ่มธนาคาร ยูนิลีเวอร์ ธุรกิจโรงแรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผ่านระบบประชุมทางไกล
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ก็เพื่อหารือถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือภาคธุรกิจเหล่านี้อย่างไร ซึ่งประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะช่วยภาครัฐ
ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีการตั้งทีมงานหรือคณะอนุกรรมการในด้านต่างๆ ที่สนับสนุน โดยจะเน้นที่การฉีดในกรุงเทพมหานครก่อน เพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น
นายสนั่น กล่าวว่า แผนงานที่วางไว้สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนนั้นได้วางแนวทางไว้ คือ
1).จัดทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ซึ่งเอกชนพร้อมที่จะช่วยสนับสนุน สถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมและไปลงพื้นที่สำรวจกับกรุงเทพมหานคร
2).ทีมการสื่อสารเพื่อให้เข้าใจและมาฉีดวัคซีนในที่ๆพร้อม
3).ทีมเทคโนโลยีและระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน ขั้นตอนในการฉีดที่รวดเร็วและมีการติดตามตัว พร้อมออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้
4).ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมร่วมกับภาครัฐ และเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน ที่จะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น
“คาดว่า จะได้รับการสนับสนุนจากซีอีโอ แต่ละท่านในด้านต่างๆ และหอการค้าจะเป็นผู้ที่ เชื่อมการทำงานกับ ภาครัฐ” นายสนั่น กล่าว
นอกจากนี้ หอการค้าไทยได้หารือเพื่อร่วมมือกับภาครัฐในการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะการเตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนร่วมกับภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาสถานที่ฉีดไม่เพียงพอ โดยมีผู้ประกอบการในเครือข่ายหอการค้าไทยเสนอพื้นที่มาแล้ว 49 แห่ง กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ มีทั้งที่เป็นโรงแรม สถานประกอบการ และห้างสรรพสินค้า
หลังจากที่หอการค้าไทยสำรวจความพร้อมในเบื้องต้นและเสนอกรุงเทพมหานครคัดเลือกพื้นที่นำร่อง7 แห่ง ภายในเดือน เม.ย.นี้ และหากโมเดลนี้ได้ผลดีจะเป็นต้นแบบการฉีดวัคซีนในต่างจังหวัดซึ่งมีผู้ประกอบการในเครือข่ายหอการค้าแสดงความจำนงเป็นสถานที่ฉีดวัคซีน 234 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อรองรับวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะมาในอีก 2-3 เดือน
ทั้งนี้ รูปแบบสถานที่ฉีดวัคซีนต้องีความพร้อม โดยรองรับการฉีดได้มากกว่าวันละ 2,000 คน รวมทั้งการเดินทางสะดวกเชื่อมระบบขนส่งสาธารณะ ที่จอดรถเพียงพอ
ส่วนด้านมาตรฐานสาธารณสุขต้องมีพื้นที่เพียงพอในการรักษามาตรการเว้นระยะห่าง มีจุดนั่งรอการฉีดวัคซีน มีระบบ Internet Online แอปพลิแคชั่นหมอพร้อม สำหรับแพทย์และพยาบาลในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อใช้ในการลงทะเบียนของผู้ฉีดวัคซีน ประวัติและจำนวนบุคลากร ซึ่งภาคเอกชนมีความพร้อมด้านบุคคลกรที่จะเข้าทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร 6-7 เดือน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 เมษายน 2564