“สนั่น อังอุบลกุล” Win Win เอกชนควักตังค์ “พรีออร์เดอร์” วัคซีนโควิด
การจัดหาวัคซีนโควิด-19 กลายเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุดสำหรับประเทศไทยตอนนี้ หลังจากที่รัฐบาลไม่สามารถ “ยับยั้ง” การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ได้ จากที่ติดเชื้ออยู่ในหลัก 10 ได้พุ่งทะยานขึ้นไปถึงหลัก 2,000 คน และมีแนวโน้มจะพุ่งขึ้นไปอีก
ส่งผลให้ภาคเอกชนต้องออกมาส่ง “สาร” ที่ชัดเจนที่สุดถึงรัฐบาลด้วยการขอเปิดช่องทางให้ภาคเอกชนสามารถจัดหา “วัคซีนทางเลือก” เข้ามาในประเทศในช่วงเวลาเร่งด่วนนี้ ก่อนที่วัคซีนหลักที่รัฐบาลจัดหาจะออกมาใช้ได้ในเดือนกรกฎาคม
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ย้ำภาพกระบวนการจัดหาวัคซีนหลังจากประชุมร่วมกับ 40 CEO ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
ใช้สูตรซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) :
เรามีการคุยกันว่า เดิมรัฐบาลจองซื้อวัคซีน 60-70 ล้านโดส แต่ถ้าจะจัดหาให้ครอบคลุมประชาชน 60-70% จะต้องมีการจัดหาวัคซีนเพิ่มขึ้น 30 ล้านโดส หรือ 100 ล้านโดส ซึ่งจากการประชุมหอการค้าไทยร่วมกับ 40 CEO เห็นพ้องกันว่า สามารถจะซื้อวัคซีนเองเพื่อฉีดให้พนักงานและคนในครอบครัว
โดยแต่ละบริษัทยินดีจ่ายค่าวัคซีนเอง ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่ร่วมกันและเอกชนไม่ได้มีการขอแลกกับสิทธิประโยชน์หรือการยกเว้นภาษีอย่างใดเลยจากรัฐบาล โดยเท่าที่รวบรวมตัวเลขที่มีการรีจิสเตอร์เข้ามา 10 ล้านโดส เป็นการจองซื้อ ซึ่งเรามีการคุยกันว่า จะเอาวัคซีนเข้ามาเร็วที่สุดได้อย่างไร
ต่อมาในการประชุมของคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 (ชุดของ นพ.ปิยะสกล) ซึ่งเรามี คุณกลินท์ สารสิน กับ คุณหมอเฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ไปร่วมประชุมด้วยนั้น ผมได้รับข้อมูลจากคุณกลินท์ว่า ที่ประชุมยังคงสรุปว่าการนำเข้าวัคซีนยังไงก็ต้องผ่าน “องค์การเภสัชกรรม” อยู่ดี
ส่วนเอกชนจะเป็นผู้ไปชี้เป้าว่าจะเอาวัคซีนจากที่ไหน ก็ปรากฏว่าตอนนี้มีชื่อ 4-5 ยี่ห้อ คือ Moderna และ CanSino Biologics ของจีน วัคซีน COVAXIN อินเดีย และ Saputnik V รัสเซีย ซึ่ง อภ.จะเป็นตัวกลางในการนำเข้าแทนเรา แต่เค้าจะไม่ได้มาเอากำไรอะไรจากตรงนี้มากมาย อาจจะมีการบวกค่าบริการและภาษี VAT
รัฐไม่ออก Letter of Intent :
ขั้นตอนก็คือ เอกชนเพลสออร์เดอร์ที่จะซื้อ แล้วจ่ายเงินก่อน ในลักษณะที่เรียกว่า “พรีออร์เดอร์” นี่น่าจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาคอขวดที่ “น่าจะเวิร์ก” ตอนนี้สิ่งที่ภาคเอกชนจะต้องรีบดำเนินการก็คือ
1) ดูว่าดีมานด์ความต้องการวัคซีนของเรามีเท่าไร ต้องมาสรุปว่าพร้อมสั่งซื้อและจ่ายเท่าไร
2) ช่วยกันหาแหล่งที่จะซัพพลายให้ดูว่า วัคซีนตัวไหนผ่าน อย.เรียบร้อยแล้ว สั่งได้เลย หรือตัวไหนยังไม่ผ่าน อย. ก็ต้องช่วยกันขึ้นทะเบียน อย.ให้เร็วภายใน 1 เดือน
ตอนนี้รัฐบาลคงไม่ทำ Letter of Intent เพราะจากหารือที่ประชุมคณะทำงานจะให้ภาคเอกชนเป็นผู้ชี้เป้า ส่วน อภ.จะเป็นผู้นำเข้าคือ เป็นคู่สัญญากับผู้ผลิตวัคซีน เพียงแต่เอกชนต้องสั่งและจ่ายเงินก่อนแบบพรีออร์เดอร์
ส่วนข้อเสนอเรื่องของการออก Letter of Intent นั้นเป็นกลไกของภาครัฐ คือรัฐออกให้เอกชนนำเข้า ไม่เช่นนั้นผู้ผลิตจะไม่ซัพพลายให้เอกชน เพราะถ้ารัฐบาลไม่สั่งแล้วใครจะรับผิดชอบ วิธีการก็จะเป็นลักษณะนี้ แต่คงไม่ได้ใช้วิธีนี้แล้ว
ชิโนฟาร์มพร้อมใน 2 อาทิตย์ :
ตอนนี้พูดกันในปริมาณ 10 ล้านโดสก็มีทาง “ชิโนฟาร์ม” ที่ยืนยันว่า มีวัคซีนพร้อมส่งมอบใน 2 สัปดาห์ แต่ยังไม่มี อย. ไม่มีเจ้าภาพเพราะชิโนฟาร์มไม่มีโรงงานหรือบริษัทในประเทศไทย เค้ามีเงื่อนไขว่า เราต้องเพลสออร์เดอร์และการขึ้นทะเบียน อย.ตรงนี้ก็ต้องขอให้หน่วยงานรัฐไปขึ้นให้ อาจจะเป็น อภ.ไปขอขึ้นทะเบียนเองก็ได้ เพื่อให้ได้วัคซีนเข้ามา
โดยลอตแรกอาจจะ 500,000-1 ล้านโดส และค่อย ๆ ทยอยส่งให้ได้ 10 ล้านโดส จากโรงงานที่จีนภายในเวลา 3 เดือน หรือภายในประมาณเดือนมิถุนายนนี้ ที่ทำมาทั้งหมดถือเป็นการแก้ไขในเรื่องของ emergency use อยู่แล้ว
อภ.นำเข้าไม่คิดกำไร :
อันนี้เป็นส่วนของที่โรงพยาบาลเอกชนเคยเสนอว่า ต้องการนำเข้าวัคซีนก่อนหน้านี้ มันจะมีความเสี่ยง จึงให้บริษัทประกันจะเข้ามาช่วยรับความเสี่ยง แต่ตอนนี้รัฐบาล (โดย อภ.) เป็นคนนำเข้า ดังนั้นจึงต้องให้ผ่านทางรัฐบาลเพื่อที่รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นสูตรที่ win win ทั้ง 2 ฝ่าย อยู่ที่ อภ.ทั้งหมดเต็มร้อย
ผมเชื่อเหลือเกินว่าความร่วมมือกันครั้งนี้ โดยหอการค้าเป็นแกนกลางตามนโยบาย connect the dots ในการหาทางออกร่วมกับภาคเอกชนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาคอขวดได้ ซึ่งทางเอกชนจะช่วยหาแหล่งผลิตวัคซีน อภ.นำเข้า “ไม่คิดกำไรนี่ก็ช่วยแก้คอขวดได้แล้ว”
ภูเก็ตบล็อกเชน :
เท่าที่คุยกับทางหอการค้าภูเก็ตและทบทวนสถานการณ์อยู่ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางหอการค้าภูเก็ตแจ้งว่า ถ้ากระทรวงสาธารณสุข สามารถส่งวัคซีนได้ทันเวลาและดำเนินการฉีดได้ตามแผนคือ ในเดือนมิถุนายนได้ 70% ของประชากร ภูเก็ตก็จะเปิดได้ตามแผน 1 กรกฎาคม “ไม่ต้องเลื่อน” หอการค้าเป็นหัวหอกในการรวบรวมข้อมูลร่วมกับภาครัฐ ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้ที่มีความตั้งใจมาก
แต่ต้องยอมรับว่า มันยังมีข้อจำกัด ถ้าต้องการเร่งฉีดวัคซีน บุคลากรและสถานที่อาจไม่เพียงพอ ซึ่งเอกชนช่วยซัพพอร์ต ทั้งช่วยสถานที่และเจ้าหน้าที่ โดยกรณีที่รัฐเบิกจ่ายงบประมาณไม่ทัน เอกชนก็พร้อมจะช่วยจ่ายไปก่อนและยังช่วยนำอาสาสมัครเข้าไปร่วมทำงานช่วงกลางคืนด้วย
ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ “ภูเก็ตบล็อกเชน” เป็นโมเดลที่ออกมา ตอนนี้จะอ้างไม่ได้ว่า “ไม่เอาวัคซีน” เพราะประชาชนยอมฉีดแล้ว ส่วนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ เราก็หาทางช่วย เช่น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้พยาบาลเกษียณ หรือนักศึกษาแพทย์ที่ใกล้จบมาช่วยฉีด ดังนั้นภูเก็ตจึงเหลือเพียงขั้นตอนเดียวคือ ขอให้มีวัคซีนโควิด-19 เข้ามาเท่านั้น
โมเดลนี้หากสำเร็จก็จะกระจาย best practice นี้ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป ส่วนจะเปิดประเทศทันภายในไตรมาส 4 นี่หรือไม่ “ผมยังไม่ทราบ มันอยู่ที่วัคซีนที่เราจะหาได้เพิ่มเท่าไหร่”
กกร.ยังต้องเพิ่มอะไรอีก :
ภาคเอกชนเราคุยกันหมด เช่น ในที่ประชุม 40 CEO เราได้ดึงสมาคมธนาคารไทยมาร่วมประชุมกับเรา มีทั้งธนาคารกรุงเทพ-SCB ก็มาร่วมด้วย พร้อมข้อเสนอจะให้ใช้พื้นที่ในส่วนของลานจอดรถในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ให้บุคลากรแบงก์ แล็ปทอปมาช่วย ต้องอธิบายเหตุที่ต้องใช้พื้นที่ลานจอดรถก็เพราะลักษณะพื้นที่จะต้องเป็นที่ “อากาศปลอดโปร่ง ไม่ติดแอร์” เราคุยรายละเอียดการวางแปลนพื้นที่สำหรับฉีดวัคซีน
ขณะนี้มีผ่านแล้ว 2 จุด คือ SCG มีพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร จะแบ่งเป็นพื้นที่ฉีด ที่จอดรถ มีที่พักสำหรับคนที่ฉีดแล้วเพื่อรอดูว่ามีอาการข้างเคียง และต้องมีที่ให้รถแอมบูแลนซ์เข้าไปรับตัวได้หากเกิดผลข้างเคียง เพื่อให้สามารถนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลโดยเร็ว
นอกจากนี้ก็มีที่ลานจอดรถที่เซ็นทรัลลาดพร้าวอีกจุดหนึ่ง แต่อาจจะไม่ถึง 49 จุด ตอนนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนได้ระหว่าง 8,000-10,000 โดส/วัน แต่ถ้ามีวัคซีนเข้ามาใหม่อีก 1.5 ล้านโดส จะต้องฉีดให้ได้ 800,000 โดส/วัน
เศรษฐกิจไทยยังมีหวังไหม :
ผมว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินเรื่องนี้ มันยังอันเซอร์เทนตี้ แต่เราประเมินว่า ถ้าระบาด 1 เดือน เสียหาย 1.5 แสนล้านบาท ถ้า 2 เดือนเศรษฐกิจจะถูกกระทบ 300,000-400,000 ล้านบาท ซึ่ง GDP จะลดลงไม่ถึง 3% แต่ยังไม่ถึงกับติดลบ
เพราะรัฐบาลยังมีอาวุธคือยังสามารถเอาเงิน 200,000 ล้านบาทออกมาใช้และยังมีเงินที่อนุมัติมา 45,000 ล้านบาท ให้กับ 77 จังหวัด จะได้จังหวัดละ 500 ล้านบาท เข้ามาช่วยได้อีกทางหนึ่ง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 24 เมษายน 2564