เอเปค 2565 : โอกาสไทย "แก้โควิด-ฟื้นเศรษฐกิจ"

การประชุม "เอเปค" ในปี 2565 เป็นโอกาสครั้งสำคัญของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างประเทศครั้งนี้ แต่อยู่ที่ว่าไทยจะใช้เวทีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญนี้พลิกฟื้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นกลับมาได้หรือไม่?
 
โควิด-19 ระลอก 3 ทำให้ประชาชนไทยวิตกกังวลอีกครั้ง ว่าภาครัฐจะสามารถควบคุม ป้องกัน และหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้รวดเร็วเพียงใด แล้วในอนาคตจะไม่เกิดระลอก 4 และ 5 ขึ้นอีก
 
ในด้านเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน ทุกคนอยากเห็นการฟื้นตัวเหมือนที่หลายประเทศเริ่มฟื้นแล้ว แต่สภาพเศรษฐกิจไทยกลับเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (เม.ย.2564) ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2564 ลงเหลือ 3% จากที่เคยคาดไว้ 3.2% ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลในเวลานี้จึงไม่พ้นเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 ระลอก 3 และการดูแลภาคเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เป็นรายได้หลัก 
 
ตามไทม์ไลน์ ในปี 2565 มีเวทีสำคัญที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างประเทศ คือ “การประชุมเอเปค” หรือกรอบความร่วมมือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งไทยเคยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2546 หรือ 20 ปีที่แล้ว
 
เอเปค ถือเป็นเวทีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อโลกและไทย เพราะสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ รวมกันมีขนาดของจีดีพีและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลก มีประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจรวมอยู่ด้วย ทั้งสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย สำหรับไทย เอเปคเป็นทั้งตลาดส่งออก เป็นแหล่งวัตถุดิบนำเข้า และเป็นกลุ่มที่มีการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
 
เนื้อหาการเจรจาภายใต้กรอบเอเปคจะครอบคลุมหลากหลายประเด็น ตั้งแต่การร่วมมือกันพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การเปิดการค้าเสรี การลงทุน Connectivity และความร่วมมือกันของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค เช่น การเปิดการค้าเสรีภายใต้กรอบ CPTPP หรือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกในปัจจุบัน ไปจนถึงความร่วมมือด้านสังคม ส่วนตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาคราชการมีการประชุมตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ระดับสูง การประชุมระดับรัฐมนตรี และที่สำคัญคือการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ที่ผู้นำของเขตเศรษฐกิจต่างๆ จะเข้าร่วมประชุมในช่วงปลายปี แล้วออกแถลงการณ์ที่จะร่วมมือในด้านต่างๆ ต่อไป
 
การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2565 ที่ใกล้มาถึง จะเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยไม่ควรมองข้าม อย่างน้อย 2 ด้านด้วยกันคือ
1.สาระการประชุม ถึงแม้การประชุมเอเปคจะครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย แต่ที่จริงแล้วเอเปคยังคงเน้นเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เป็นหลัก จึงเป็นโอกาสของไทยในการผลักดันวาระ หรือ Agenda ต่างๆ ที่คิดว่าจะมีความสำคัญต่อไทยและภูมิภาคในช่วงเวลานี้ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งยังเป็นโอกาสแสดงบทผู้นำในเวทีระหว่างประเทศ และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นผู้นำทางความคิดที่สามารถสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ รวมทั้งวิสัยทัศน์ในการผลักดันโครงการต่างๆ ต่อเนื่องไปในอนาคต
 
2.การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ปกติเอเปคจะแบ่งการประชุมเป็น 50 เรื่อง มีการประชุมย่อยในระดับเจ้าหน้าที่อีกหลายร้อยการประชุม ในแต่ละปีจะมีผู้เข้ามาประชุมประมาณ 30,000 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักธุรกิจภาคเอกชน และสื่อมวลชนจากทั่วโลก 
นอกจากไทยจะมีโอกาสประชาสัมพันธ์ประเทศถึงความพร้อมในการประชุมและเปิดประเทศแล้ว ยังจะสร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม สายการบิน ธุรกิจอาหาร ภัตตาคาร ธุรกิจชุมชน และอื่นๆ อีกมากมาย ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมเอเปคจะมีส่วนสำคัญที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยไปในตัว ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 
 
เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ไอเอ็มเอฟ (ม.ค.2564) ระบุว่า ปี 2563 เศรษฐกิจโลกหดตัวลงถึง 3.5% แต่ในปี 2564 จะกลับมาขยายตัว 5.5% ทั้งนี้การฟื้นตัวจะกระจายไปในประเทศที่มีประชากรเข้าถึงวัคซีนก่อน และที่มีมาตรการของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ผมเห็นตรงกันว่าไทยต้องเร่งจัดหาวัคซีนและกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้เข้าถึงคนไทยมากที่สุด พร้อมกันกับต่างชาติที่ได้รับการรับรองเป็นทางการว่าได้ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเข้าประเทศไทยมาร่วมประชุมเอเปคได้
 
เรามีเวลาอีกครึ่งปี สำหรับเตรียมการประชุมที่จะเริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการในปลายปีนี้ ซึ่งในด้านสาระการประชุม ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการก็เริ่มระดมสมองระดมความคิด เพื่อกำหนดหัวข้อและทิศทางในอนาคตของภูมิภาคที่จะได้การยอมรับจากสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ
 
ส่วนด้านสาธารณสุข ก็เชื่อว่ารัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 โดยเร่งคลี่คลายปัญหาโควิด-19 ซึ่งหากผู้ร่วมประชุมสามารถเดินทางเข้าไทยได้แบบประชุมเห็นหน้ากัน พบปะพูดคุยเจรจาเรื่องสำคัญๆ ได้ ก็ย่อมดีกว่าประชุมทางไกลอย่างแน่นอน
 
เมื่อเอเปค 2565 เป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทย จึงต้องลุ้นกันว่ารัฐบาลจะใช้เวทีนี้พลิกฟื้นเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นกลับมาได้หรือไม่
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 29 เมษายน 2564 
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)