ประธานหอไม่ท้อไม่ได้หาวัคซีนพร้อมทำงานร่วมภาครัฐเต็มที่
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ในการประชุมหารือร่วมกับคณะนายกรัฐมนตรีเมื่อ 2 วันก่อนเกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อเร่งหาแนวทางฟื้นฟูภาพรวมและป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ละลอก 3 เพื่อให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้อย่างรวดเร็วนั้น โดยประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนเดิมเอกชนพร้อมที่จะเป็นผู้จัดหามาเพิ่ม 35 ล้านโดส แต่หลังจากฟังและประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยทางนายกฯได้ยืนยันเตรียมงบประมาณและได้จัดหาวัคซีนเพิ่มเติมไว้พร้อมแล้วครบ 100 ล้านโดส ทำให้ขณะนี้ภาคเอกชนอาจไม่ต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้กับภาครัฐ แต่หากภาครัฐต้องการให้เอกชนจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมหลังจากนี้ ภาคเอกชนก็ยินดีดำเนินการให้
อย่างไรก็ตาม แต่ขณะนี้ภาครัฐอยากให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนในด้านต่างๆเช่นการจัดสถานที่ฉีดวัคซีนหรือในด้านอุปกรณ์สื่อสารต่างร่วมกับภาครัฐบาลเพื่อให้มีการเดินหน้าฉีดวัคซีนแก่ประชาชนกันได้ และมองว่าเมื่อวัคซีนเข้ามาตามจำนวนที่คาดการณ์ไว้และได้มีการฉีดวัคซีนได้ตามตามแผนก็เชื่อว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับมาดีได้ในไตรมาส 3 และไตรมาสที่ 4 หากทุกอย่างกลับมาเติบโตได้ก็เชื่อว่าจะทำให้จีดีพีของประเทศในปีนี้น่าจะเติบโตได้อยู่ที่ร้อยละ 1.5-3
ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้จัดประชุมร่วมกับทีมปฏิบัติงานด้านสถานที่ฉีดวัคซีนของภาคเอกชน 14 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมครั้งนี้เพื่อซักซ้อมความเข้าใจและเตรียมความพร้อมสถานที่แต่ละแห่งในการเป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ขั้นตอนในการฉีดวัคซีน บุคลากร และอุปกรณ์จำเป็น ที่จะดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ธ.ค. โดยหอการค้าไทยได้เชิญสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ร่วมให้ข้อมูล
สำหรับสถานที่แต่ละแห่งประกอบด้วย เอสซีจีบางซื่อ เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว เดอะมอลล์บางกะปิ โรบินสันไลฟ์สไตล์ลาดกระบัง ห้างโลตัสสาขามีนบุรี สามย่านมิตรทาวน์ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ธัญญาพาร์ค เอเชียทีค เซ็นทรัลพลาซาปิ่นเกล้า ไอคอนสยาม สถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาพระราม2 (ขาออก) เดอะมอลล์บางแค และ บิ๊กซีสาขาบางบอน
โดยทั้ง 14 แห่งนี้ เป็นสถานที่ที่ประชาชนสามารถเดินทางเข้ารับการบริการได้สะดวก ในกรณีฉุกเฉินสามารถนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงได้ภายใน 10 นาที มีการถ่ายเทอากาศที่ดีและมีพื้นที่เหมาะสมสำหรับการจัดบริการฉีดวัคซีนตามแนวทางและหลักการป้องกันการติดเชื้อ มีระบบ Internet รองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ มีห้องน้ำสำหรับให้บริการประชาชน และจุดพักสังเกตอาการ 30 นาที แต่ละแห่งยังจัดที่นั่งรองรับประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 100 คน ซึ่งสถานที่แต่ละแห่งจะรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วสามารถให้บริการได้วันละ 20,500 คน รวมทั้งสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการได้ตามสถานการณ์
ทั้งนี้ แต่ละบริษัทที่เป็นเจ้าของสถานที่ยังสนับสนุนและจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการบริการประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ ปรินเตอร์ ตู้แช่วัคซีน เครื่องสแกนบัตร เตียงสนาม และพนักงานอาสาสมัครของแต่ละสถานที่ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับการบริการ ให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาในการอยู่ในพื้นที่ฉีดวัคซีนให้เหลือน้อยที่สุด โดยหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 14 แห่ง จะเริ่มเตรียมสถานที่ตั้งแต่เดือน พ.ค. เพื่อพร้อมให้บริการประชาชนในเดือน มิ.ย.นี้.
ที่มา : สำนักข่าวไทย
วันที่ 30 เมษายน 2564