ว่างงานพุ่งไม่หยุด เด็กจบใหม่ 5 แสนคนเคว้ง ไม่มีงานทำ หนี้ครัวเรือนสูง จำใจกู้นอกระบบ

โควิด-19 สั่นคลอนเศรษฐกิจไทย ไตรมาสเเรกของปี 2564 ว่างงานพุ่ง 7.6 เเสนราย นักศึกษาจบใหม่เกือบ 5 แสนคน 'สุดเคว้ง' ตำแหน่งงานไม่เพียงพอ เสี่ยงตกงานยาว ด้านหนี้ครัวเรือนสูงไม่หยุด ทะลุ 14 ล้านล้านบาท ประชาชนต้องควักเงินออมมาใช้ ก่อหนี้บัตรเครดิต-เสี่ยงกู้นอกระบบเพิ่ม
 
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนเเรกของปีนี้ คนไทยว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 7.6 แสนคน คิดเป็น 1.96% เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอก นับตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นมา
 
โดยอัตราการว่างงานของแรงงานในระบบ พบว่า ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 มีจำนวน 3.46 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 3.1% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่การระบาดยังไม่รุนแรงแต่ปรับตัวลดลงจากครึ่งปีหลัง เเบ่งเป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ประมาณ 8 หมื่นคน ในเดือน มี.ค. ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง และลูกจ้างของสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 82,346 คน ลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน
 
ส่วนชั่วโมงการทำงานรวมอยู่ที่ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 การทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึง 129.1% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4
 
“จากภาพรวมที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานลดลง สะท้อนการจ้างงานและการทำงานที่ไม่เต็มเวลา ทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน”
โดยกำลังแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.5% จากการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้อยู่นอกกำลังแรงงานอย่างต่อเนื่อง
 
เเละมียอด ‘ผู้มีงานทำ’ ในไทยทั้งสิ้น 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.4% จากการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ดูดซับแรงงานบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่นมาตั้งแต่ปี 2563 ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรมีการปรับตัวสูงขึ้น รวม 11.07 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรม การจ้างงานปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 0.6% โดยสาขาการผลิตอุตสาหกรรมมีการจ้างงานลดลง 2.2%
 
ปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงเเละมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้ภาคบริการ จ้างงานลดลง 0.7% สาขาการขายส่ง/ขายปลีกลดลง 1.0% และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ลดลง 0.4% และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลง 0.2%
 
“เเต่บางอุตสาหกรรมที่ยังสามารถขยายตัวได้ เช่น ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อุปกรณ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และการผลิตเครื่องอุปกรณ์การขนส่งอื่นๆ”
 
เด็กจบใหม่ เสี่ยงไร้งานยาว :
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. ระบุว่า ผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน ในปี 2564 ที่ต้องติดตามเเละเเก้ไขอย่างเร่งด่วน ได้เเก่
 
1) แรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) อาจตกงานมากขึ้นหรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน
โดยธุรกิจ MSMEs ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ GDP ของ MSMEs ปรับตัวลดลงสูงถึง 9.1% หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว ธุรกิจเหล่านี้อาจไม่สามารถประคองตัวต่อไปได้ รวมถึงการเลิกจ้างแรงงาน และโอกาสการกลับมาฟื้นตัวอาจใช้เวลานานมากขึ้น 
 
2) แรงงานในภาคท่องเที่ยวอาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น และต้องหาอาชีพใหม่
ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่มีอยู่กว่า 7 ล้านคน โดยหากแรงงานถูกเลิกจ้างจะไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในสาขาเดิมได้ในระยะเวลาอันใกล้ และอาจต้องเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาว่าจะสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร
 
3) ตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอจะ รองรับนักศึกษาจบใหม่
กระทบกับการหางานของ นักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 ประมาณ 4.9 แสนคน ขณะที่โครงการจ้างงานกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่และแรงงานคืนถิ่นภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ในปี 2563 ซึ่งมีระยะเวลาการจ้างงานประมาณ 12 เดือนกำลังจะสิ้นสุดลง อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานภายใต้โครงการประมาณ 1.4 แสนตำแหน่ง
 
4) เเรงงานรายได้ลดต่อเนื่อง เสี่ยงตกงานยาว
ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง 6 ไตรมาสติดต่อกันและการว่างงานเพิ่มขึ้นสะท้อนว่าแรงงานมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
 
“ผู้ว่างงานจากผลกระทบของ COVID-19 มีแนวโน้มเป็นผู้ว่างงานระยะยาวมากขึ้น”
นอกจากนี้ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ที่จะมีผลต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรไทยด้วย
 
หนี้ครัวเรือนทะลุ 14 ล้านล้าน คนจำใจก่อหนี้บัตรเครดิต-กู้นอกระบบเพิ่ม :
 
หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ของปี 2563 มีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยาย 3.9% จาก 4% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว เเม้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ) ยังอยู่ในระดับสูง
 
โดยในไตรมาส 4 ปี 2563 สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.84% ลดลงจาก 2.91% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมาของสถาบันการเงิน เเต่จากปัญหาตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น จะทำให้รายได้ของแรงงานลดลง และทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น
 
“คาดว่าแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนโควิด-19” ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ชะลอตัวลง
 
ด้านความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจ ‘ปรับตัวเพิ่มขึ้น’ จากปัญหาการขาดสภาพคล่องรวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม
 
นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการ ‘ก่อหนี้นอกระบบ’ โดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ ตอนนี้ประชาชนเริ่มนำ ‘เงินออม’ ออกมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น เวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย มาไว้รองรับในระยะถัดไป
 
ที่มา positioningmag.com
วันที่ 24 พฤษภาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)