เจาะลึก “กฎหมายผู้ประกอบการ ค.ศ. 2020” ที่จะผลักดันให้เวียดนามเป็นหนึ่งใน ASEAN-4 countries
เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 สภาแห่งชาติเวียดนามได้ผ่านข้อกฎหมายผู้ประกอบการ ฉบับแก้ไข และบัญญัติขึ้นเป็น “กฎหมายผู้ประกอบการ ค.ศ. 2020 (Law on Enterprises No. 59/2020/QH14)” โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงต้อนรับศักราชใหม่ของเวียดนามด้วยเป้าหมายสำคัญที่ต้องการสร้างกรอบกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี (corporate governance) ให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าแนวปฏิบัติระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งเพื่อกระตุ้นการพัฒนาธุรกิจ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเพื่อการผลิตและการดำเนินธุรกิจ และสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนามให้อยู่ในระดับเดียวกับ ASEAN-4 countries หรือ 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งมีโครงสร้างทางการค้าที่คล้ายคลึงกันและเป็นประเทศรายได้ปานกลาง โดยการเปลี่ยนแปลง 6 ประการสำคัญที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในกลไกช่วยอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศและสามารถต่อยอดไปสู่การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) มากยิ่งขึ้น ได้แก่
.
1. การปรับเปลี่ยนแนวคิดการแก้ไขกฎหมาย
แนวทางการแก้ไขกฎหมายผู้ประกอบการ ค.ศ. 2020 ตั้งอยู่บน 2 ทิศทาง คือ (1) เปลี่ยนแนวทางจากเชิงรับเป็นเชิงรุก โดยไม่เพียงมุ่งขจัดปัญหาและอุปสรรค แต่ยังปรับปรุงข้อกฎหมายให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และ (2) นำแนวปฏิบัติและมาตรฐานระดับภูมิภาคและระดับโลกมาใช้เป็นดัชนีชี้วัดและเป้าหมาย
.
2. การอำนวยความสะดวกการเข้าสู่ตลาด
ปัจจุบัน เวียดนามถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 115 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ภายใต้หัวข้อ ‘การเริ่มประกอบธุรกิจ’ (Starting a Business) ในดัชนีความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจ (East of Doing Business – EoDB) ของธนาคารโลก ทำให้ต้องปฏิรูปกระบวนการบริหารจัดการ ลดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่ตลาด ซึ่งไม่เพียงต้องปรับปรุงกฎหมายผู้ประกอบการ แต่ยังต้องแก้ไขข้อกำหนดด้านภาษี แรงงาน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นจึงได้ตัดข้อกำหนดที่ไม่จำเป็นหลายประการออก และเริ่มให้บริการจดทะเบียนธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เวียดนามมีอันดับที่ดีขึ้นในดัชนี EoDB
.
3. การปกป้องนักลงทุนและผู้ถือหุ้น
ข้อกำหนดด้านการปกป้องนักลงทุนได้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2562 เวียดนามอยู่ที่อันดับ 97 ในดัชนี Protecting Minority Investors Index ของธนาคารโลก แต่ยังทิ้งห่างประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย (อันดับ 2) สิงคโปร์ (อันดับ 7) และไทย (อันดับ 15)
.
ทั้งนี้ เวียดนามได้เพิ่มข้อกำหนดพื้นฐานในกฎหมายผู้ประกอบการ ค.ศ. 2020 โดย (1) ขยายกรอบสิทธิ์ผู้ถือหุ้น (2) กำหนดให้ผู้ถือหุ้นสามารถปกป้องผลประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมาย (3) ขยายสิทธิ์ให้ผู้ถือหุ้นสามารถเข้าถึงข้อมูลการดำเนินงานของบริษัท และ (4) อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นดำเนินการทางกฎหมายกับผู้บริหารที่ละเมิดอำนาจและนำมาซึ่งความเสียหายของบริษัทหรือผู้ถือหุ้น
.
นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกหรือลดเงื่อนไขการใช้สิทธิ์ของผู้ถือหุ้นบางประการ เช่น ยกเลิกข้อกำหนดเดิมที่ระบุให้ผู้ถือหุ้นหรือกลุ่มผู้ถือหุ้น ต้องถือหุ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน ลดการถือหุ้นขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% และอนุญาตให้บริษัทเลือกใช้ประเภทบรรษัทภิบาลที่เหมาะสมกับธุรกิจและเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคณะที่ปรึกษา
.
4. ปรับปรุงประสิทธิภาพการกำกับดูแลและการดำเนินกิจการของรัฐวิสาหกิจ
คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ออกข้อมติที่ 12-NQ/TW เมื่อปี 2560 ระบุอย่างชัดเจนให้รัฐวิสาหกิจเวียดนามดำเนินธุรกิจภายใต้กลไกเศรษฐกิจแบบตลาด และแข่งขันกับภาคธุรกิจอื่นอย่างเป็นธรรมตามกฎหมายของเวียดนาม ส่งผลให้ในกฎหมายผู้ประกอบการ ค.ศ. 2020 มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจหลายประการ เช่น เพิ่มการควบคุมการรวมศูนย์อำนาจและการมีผลประโยชน์ทับซ้อน สร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของรัฐวิสาหกิจ และเปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจ
.
5. กระตุ้นการพัฒนาตลาดทุน
กฎหมายผู้ประกอบการ ค.ศ. 2020 ได้เพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับเอกสารแสดงสิทธิ์ในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์ (Non-Voting Depository Receipts – NVDRs) โดยบริษัทที่ประสงค์จะออกเอกสาร NVDRs จะต้องฝากหุ้นสามัญจำนวนที่แน่นอนเพื่อใช้เป็นสินทรัพย์อ้างอิง (underlying assets) โดยผู้ถือเอกสารนี้จะไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง แต่จะได้รับสิทธิ์ในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทุกประการ รวมถึงสิทธิ์และภาระผูกพันที่เกี่ยวข้องกับหุ้นสามัญอ้างอิง (underlying ordinary shares)
.
โดยการอนุญาตให้ออกเอกสาร NVDRs นั้น จะช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินเชื่อในตลาดหุ้น และช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับโอกาสในการดึงดูดเงินทุนได้มากขึ้นด้วย
.
6. ลดความยุ่งยากในการซื้อและควบรวมกิจการ (Acquisition and Merger Activities)
กฎหมายผู้ประกอบการ ค.ศ. 2020 ปรากฏข้อกำหนดใหม่หลายรายการเพื่อขจัดอุปสรรคและข้อจำกัดในการซื้อและควบรวมกิจการ เช่น จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ประกอบการเอกชนสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นเพียงบริษัทจำกัด (Limited Liability Company – LLC) เท่านั้น แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทร่วมทุน (joint-stock company) ได้
.
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนำมาสู่กฎหมายซึ่งช่วยผลักดันให้เวียดนามก้าวข้ามขีดจำกัดที่ครั้งหนึ่งลดโอกาสการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศ ASEAN-4 ในไม่ช้า
.
สำหรับประเทศไทย แม้จะมีระดับเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงพอให้สามารถเข้าร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ ASEAN-4 ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายฉบับดังกล่าวให้ถ่องแท้ เพื่อให้ทราบถึงโอกาสการลงทุนในเวียดนามที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น หรืออาจต่อยอดเป็นความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยและเวียดนาม และยกระดับไปสู่การดึงดูด FDI และบรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพึ่งพาระหว่างกันอันเป็นหลักสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้กลุ่มประเทศ ASEAN-4 หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ผ่านความริเริ่มจาก ‘กฎหมายผู้ประกอบการ ค.ศ. 2020’
.
พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสการประกอบธุรกิจกับต่างประเทศ ที่สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกคัดสรรมาเพื่อท่าน ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com และท่านสามารถสอบถามหรือเสนอแนะเพิ่มเติมได้ที่อีเมล info@globthailand.com
โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
ที่มา globthailand.com
วันที่ 28 พฤษภาคม 2564