บทความพิเศษ : ประเทศไทยและเวียดนาม ในความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง
ปี 2564 เป็นปีพิเศษ เพราะตรงกับการครบรอบ 131 ปี ของวันคล้ายวันเกิดประธานโฮจิมินห์แห่งเวียดนาม และ 45 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม
นายโฮจิมินห์ เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (ชื่อขณะนั้น) ท่านเกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2433 เป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับว่ามีความรักชาติ ความเป็นผู้นำ ซื่อสัตย์สุจริต สมถะในการดำเนินชีวิต ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2512 ก่อนที่สงครามเวียดนามกับสหรัฐ จบลง และเวียดนามทั้งสองภาครวมกันเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อ 2 กรกฎาคม 2519
ส่วนประเทศไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2519 หลังคณะผู้เจรจาฝ่ายไทยและฝ่ายเวียดนามบรรลุความตกลงและออกแถลงการณ์ร่วมกันที่กรุงฮานอยวันเดียวกัน ดังนั้น ความสัมพันธ์ทางการทูตยุคปัจจุบัน จะครบรอบ 45 ปี ในเร็วๆ นี้
หากประธานโฮจิมินห์ หยั่งรู้ได้ถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเวียดนามที่ก้าวหน้าอย่างใกล้ชิดจนถึงปัจจุบัน ย่อมจะยินดีกว่าใครๆ เพราะในช่วงปี 2471-2472 เป็นเวลาเกือบสองปี ประธานโฮจิมินห์ หลบหนีภัยจากการไล่ล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส เข้ามาพำนักอาศัยและเคลื่อนไหวทางการเมืองบริเวณ 1) บ้านดง ตำบลป่ามะคาบ จังหวัดพิจิตร 2) บ้านหนองโอน จังหวัดอุดรธานี และ 3) บ้านนาจอก อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งทุกแห่งมีอนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ ที่ท่านไปพำนัก อนุสรณ์สถานฯ ขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่บ้านนาจอก
การที่ประธานโฮจิมินห์เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยได้นำไปสู่ความผูกพันกับประเทศไทยและประชาชนชาวไทย มีความรู้สึกที่ดีต่อประเทศไทย เพราะคงมีผู้นำของไม่กี่ประเทศที่ไปเคลื่อนไหวกบดานในประเทศข้างเคียง แล้วกลับไปกอบกู้ประเทศของตนได้สำเร็จ
เมื่อต้นปี 2564 สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ภายใต้การนำของนายสนั่น อังอุบลกุล ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ได้ประชุมคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองการครบรอบ 45 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม และได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อดำเนินการ หนึ่งในกิจกรรมที่พิจารณาและรวมเข้าในเวลาต่อมา คือการบูรณะอนุสรณ์สถานฯ หมายถึง การบูรณะภูเขาจำลอง ซึ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2559 มีอายุใช้งานมา 5 ปี บัดนี้จำต้องบูรณะ สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจของคนเวียดนามโพ้นทะเลในไทย และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดนครพนม กล่าวกันว่าเป็นอนุสรณ์สถานประธานาธิบดีโฮจิมินห์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนอกประเทศเวียดนาม
สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องระงับกิจกรรมอื่นที่อยู่ในแผนงานเนื่องจากไม่สามารถจัดกิจกรรมที่มีการชุมนุมคนได้เลย
ท้ายที่สุด สภาธุรกิจไทย-เวียดนามได้จัดการประชุมออนไลน์ทางไกลกับเครือข่ายบรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำไทย สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในเวียดนาม กระทรวงการต่างประเทศ ศาลากลางจังหวัดนครพนม สมาคมชาวเวียดนามแห่งประเทศไทย สมาคมไทย-เวียดนามจังหวัดนครพนม ภาคเอกชนไทย เป็นต้น
อนึ่ง โครงการบูรณะภูเขาจำลองในอนุสรณ์สถานฯ และโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าบางรายการของชุมชนบ้านนาจอก จังหวัดนครพนม เป็นเรื่องเด่นของการประชุมออนไลน์นี้
นายฝ่าน จี๊ แทงห์ เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำไทยได้กล่าวว่า ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ มีความรักปรารถนาดีและรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อประเทศไทย ที่ให้ความช่วยเหลือ ตนขอขอบคุณฝ่ายไทยที่บูรณะภูเขาจำลองในอนุสรณ์สถาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับเวียดนาม ทางด้านนายวิศรุต จินตนเสถียร นายกสมาคมชาวเวียดนามแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสมาคมฯ ว่า มีสมาคมไทย-เวียดนามในจังหวัดต่างๆ ตลอดจนสมาคมธุรกิจไทย-เวียดนาม มีสมาชิกกว่าหนึ่งแสนคน โดยสมาคมฯ เป็นศูนย์กลางรณรงค์ให้สมาชิกสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของเวียดนาม พร้อมๆ กับสั่งสอนให้สมาชิกประกอบสัมมาชีพอย่างซื่อสัตย์สุจริต เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศไทย ปฏิบัติตามกฎหมาย จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตอบแทนบุญคุณแก่ประเทศไทยที่ให้ที่พำนักอาศัย รักแผ่นดินไทยและสร้างความเจริญแก่ประเทศไทย ทั้งนี้ ภูเขาจำลองนี้สะท้อนเป็นสัญลักษณ์ของภูเขาจริงๆ ที่จังหวัดเหงะอาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของประธานโฮจิมินห์ที่เวียดนาม
การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองการครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับต่างประเทศ นี้ กระทรวงการต่างประเทศมีแนวการพิจารณาว่า น่าจะใช้โอกาสการครบรอบปีที่ลงท้ายด้วย “ศูนย์” เช่น 40 ปี50 ปี แต่ก็มิได้ขัดข้องหากจะลงท้ายด้วย “ห้า” เช่น 45 ปีดังเช่นปีนี้ แต่ขอให้เป็นข้อริเริ่มหรือการดำเนินการของสถานเอกอัครราชทูต อนึ่ง การจัดกิจกรรมครบรอบ 45 ปีของความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม มาจากข้อริเริ่มของสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เป็นผู้ประกอบอาชีพนักธุรกิจ แต่ทำงานให้แก่สังคมและสาธารณประโยชน์ “สวมหมวก” รับผิดชอบในหลายเรื่องรวมถึง การดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม เลือกตั้งแต่งตั้งตามลำดับเมื่อเร็วๆ นี้ และเพิ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) ดังนั้น จึงดูเหมือนเป็น “นักการทูต” อีกคนหนึ่ง
อนึ่ง ดูเหมือนว่าสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของประเทศทั้งสองคงจะมีแผนการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตฯ เช่นกัน
ข้าพเจ้ายินดียิ่งที่สองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเป็นผลสำเร็จเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับการเจรจาเพื่อปรับความสัมพันธ์ฯ คงเหลืออยู่เพียงหยิบมือเดียว เขาเหล่านั้นมีสุขภาพแข็งแรงน้อยลงเนื่องจากสูงวัยขึ้นในอดีตเมื่อครั้งเฉลิมฉลองการครบรอบปีที่ 20 ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับเวียดนาม กระทรวงการต่างประเทศได้รับเกียรติจากผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งคนหนึ่ง คือ ฯพณฯนายอานันท์ ปันยารชุน รับเชิญมาแสดงปาฐกถาพิเศษเล่าถึงประสบการณ์การเจรจาซึ่งนำไปสู่การตกลงใจที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ยิ่ง
ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนามยุคปัจจุบันผ่านร้อนผ่านหนาว ฟันฝ่าอุปสรรค สิ่งท้าทายปัจจัยการเป็นอริในประวัติศาสตร์ ความแตกต่างของการมองผลประโยชน์แห่งชาติ ภูมิรัฐศาสตร์ เขตอิทธิพล ปัจจัยมหาอำนาจและการแทรกแซง ไปสู่การออมชอมและความเข้าใจระหว่างกันยิ่งขึ้น สัมพันธ์ทวิภาคีได้รับการพัฒนาในทุกๆ ด้านจนเรียกได้ว่า ได้พัฒนาสูงขึ้นเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง
ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 1-2 ปีมานี้ทำให้การติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างประเทศต่างๆ และภายในแต่ละประเทศมีความจำกัดในขอบเขตและระดับ แต่ก็เชื่อว่า สุดท้ายแล้ว
ทุกประเทศ ไทยและเวียดนามก็เช่นกันจะก้าวข้ามไปได้ และในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อเราฉลองการครบรอบ 55 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่ายินดีและภาคภูมิใจยิ่งๆ ขึ้นไป
เขียนโดย : คมกริช วรคามิน
* อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย และมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐบัลแกเรีย
* ที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม
* ผู้แต่งหนังสือ “รวมงานเขียนเรื่องการต่างประเทศของไทยและเวียดนาม”
ที่มา แนวหน้าออนไลน์
วันที่ 29 พฤษภาคม 2564