ภาคบริการเร่งฉีดวัคซีนพนง.ด่านหน้า!
การเร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุดนับเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ นำสู่ความเชื่อมั่นและมั่นใจทำให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง!
พิพัฒน์ รัชกิจประการ :
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามแผนและข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ขอวัคซีน 3.5 ล้านโดสเพื่อกระจายแก่บุคลากรภาคท่องเที่ยว ขณะนี้มีหลายพื้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวหลัก พร้อมมอบหมายให้สมาคมท่องเที่ยวและธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง สำรวจผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ตกหล่น ภายในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ เพื่อจัดหาและกระจายวัคซีนให้โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลเพิ่มพื้นที่นำร่องตามแผนเปิดประเทศอีก 4 พื้นที่ใหม่ในไตรมาส 4 ได้แก่ กรุงเทพฯ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์ รวมมี 10 พื้นที่นำร่อง คาดว่าผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ราว 70% ของประชากรทั้งหมด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในเดือน ก.ค.นี้
"ตามกำหนดจะมีการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข้ามาเพิ่มในเดือน มิ.ย. 6 ล้านโดส และ ก.ค. อีก 10 ล้านโดส ซึ่งจะเร่งปูพรมฉีดให้เร็วที่สุด เพราะยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นี้ หากยอดผู้ติดเชื้อใหม่ยังกระเพื่อมต่อเนื่อง จะกระทบต่อภาพรวมได้ แต่มั่นใจว่าเราจะควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ภายในเดือน ก.ค.ตามที่รัฐบาลประกาศ”
อย่างไรก็ตาม แม้ประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะได้รับวัคซีน 70% จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายใน 2 เดือนข้างหน้า แต่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินว่า ยัง “เร็วเกินไป” หากจะปรับเปลี่ยนมาเปิดเมืองกรุงเทพฯ ในไตรมาส 3 แทนกำหนดเดิมไตรมาส 4 เพราะกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของประเทศ มีนักเดินทางเข้าออกเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านธุรกิจ และการท่องเที่ยวจำนวนมาก การควบคุมดูแลทำได้ยาก
"ต้องปล่อยให้พื้นที่กรุงเทพฯ ปลอดจากโรคโควิดอย่างน้อย 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.) ก่อนเข้า ต.ค.หรือไตรมาส 4 ตามไทม์ไลน์เดิม เมื่อกรุงเทพฯ มีภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสเดินทางมาเที่ยวภูเก็ตซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องของไทย มั่นใจในการเดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯ มากขึ้น”
ส่วนกรณีที่ “นายวิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค” ประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งเครือไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ทำจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนึ่งในนั้น คือ อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งการยกเลิกการกักตัวไม่ควรจำกัดอยู่เพียงพื้นที่นำร่อง แต่ควรถูกบังคับใช้ในทุกพื้นที่ของประเทศ
พิพัฒน์ ย้ำว่า “ไม่ได้ขัดข้องกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด!” กรณีนี้ขึ้นอยู่กับความมั่นใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติว่ามีมากน้อยแค่ไหนในการท่องเที่ยวในเมืองไทยที่ยังมีการระบาด และประชากรในพื้นที่นั้นๆ ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 70% อาจมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
“เราต้องเซฟและดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย หากมาเที่ยวไทยแล้วติดโควิดกลับไป จะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ประเทศไทยได้ ช่วงแรกของการเปิดประเทศ รัฐบาลต้องกำหนดพื้นที่นำร่องให้ต่างชาติที่จะเข้ามาเที่ยวไทยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจากโควิดก่อน”
ตามเป้าหมายรัฐบาลภายในสิ้นปี 2564 คนไทยต้องได้รับวัคซีนครบ 70% ของประชากรทั้งหมดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หนุนแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แบบไม่ต้องกักตัวทุกพื้นที่ของไทย 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป ขณะที่โครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ยึดไทม์ไลน์ 1 ก.ค.นี้
“การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างความสบายใจและมั่นใจให้แก่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่จะเข้ามาเที่ยว เมื่อกลับไปแล้ว จะต้องไม่ติดโควิด 100% เพื่อไม่ให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเสื่อมเสีย”
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ในกลุ่มเชนโรงแรมรายใหญ่ ทั้ง ไมเนอร์ โฮเทลส์ เครือเซ็นทารา รวมทั้งดุสิตธานี พนักงานได้รับวัคซีนแล้ว “1ใน3” ของพนักงานทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ ภูเก็ต และเมืองท่องเที่ยวหลัก นับว่ามีความพร้อมเต็มศักยภาพที่จะเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตวันที่ 1 ก.ค.นี้
ทางด้านห้างร้านค้าปลีก ศูนย์การค้า ที่มี “พนักงานขาย” เป็นหน้าด่านในการพบปะลูกค้า นั้นถูกจัดลำดับความสำคัญในการได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ เช่นกัน
ผุสดี พันธุมพันธุ์ ผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มทรัพยากรบุคคล บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาจัดสรรโควต้าวัคซีนให้กระทรวงแรงงานเพื่อกระจายวัคซีนให้ผู้ประกันตนระบบประกันสังคมมาตรา 33 เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้แจ้งพนักงานและให้แสดงความจำนงในการฉีดวัคซีน ซึ่งบริษัทฯ จะรวบรวมรายชื่อพนักงานและจัดส่งให้สำนักงานประกันสังคม จากนั้นจะทยอยส่งพนักงานไปฉีดวัคซีน ในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้
"เราคัดเลือกพนักงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พนักงานหน้าร้านที่ต้องสัมผัสโดยตรงกับลูกค้าเป็นจำนวนมาก ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนก่อน หลังจากนั้นเป็นคิวของพนักงานออฟฟิศ โดยพนักงานทั้งหมดกว่า 9,000 คนของกลุ่มเดอะมอลล์ จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบทุกคน ภายในเดือนก.ค.นี้”
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้จัดเตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานครไว้ 45 จุด หนึ่งในนั้นมี เดอะมอลล์ รามคำแหง เป็นจุดที่พนักงานจากสำนักงานใหญ่ 2,000 คน เข้าฉีดวัคซีน
ส่วน “เซ็นทรัล รีเทล” ระบุว่า รณรงค์ให้พนักงานเข้ารับบริการวัคซีนอย่างเร่งด่วน โดยสื่อสารกับพนักงานให้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม สำหรับพนักงานที่อาศัยในกรุงเทพมหานครเข้าร่วมโครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย” ทางเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com หรือ แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ซึ่งฝ่าย HR มีการติดตามสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนของพนักงานในเครือข่ายประกันสังคม และติดต่อไปยังแต่ละโรงพยาบาลเช็คการลงทะเบียนฉีดวัคซีนแบบกลุ่มเพื่อเป็นอีกช่องทางให้พนักงานได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นพนักงานกลุ่มเสี่ยงจะทยอยได้รับวัคซีนเป็นลำดับแรก ตั้งแต่พนักงานจิตอาสาที่ทำงานในพื้นที่ให้บริการจุดฉีดวัคซีน พนักงานอายุ 55 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว พนักงานหน้าร้าน พนักงานที่ไม่สามารถปฏิบัติงานจากที่บ้านได้ และพนักงานที่เดินทางโดยรถสาธารณะ เป็นต้น
ฐนิวรรณ กุลมงคล :
นายกสมาคมภัตตาคารไทย ระบุว่า ได้ขอจัดสรรวัคซีนให้กับสมาชิกร้านอาหารภัตตาคารกว่า 70,000 หมื่นราย ซึ่งขณะนี้พนักงานลูกจ้างของร้านอาหารต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ทยอยเข้ารับวัคซีนโควิด-19 วันละ 200 คน ที่จุดกระจายวัคซีนมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยจะต้องแจ้งชื่อลงทะเบียนผ่านมายังสมาคมฯ
“การทยอยเข้ารับวัคซีนของผู้ประกอบการร้านอาหาร จะทำให้มีความมั่นใจในการเปิดกิจการมากขึ้น ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ ขณะที่ลูกค้ามีความมั่นใจในการเข้าใช้บริการมากขึ้น”
ธรรมรัตน์ โชควัฒนา :
กรรมการผู้อำนวยการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า หากเจรจาจัดหาวัคซีนได้ บริษัทพร้อมฉีดให้พนักงานในเครือมากกว่า 1 แสนราย จาก 200-300 บริษัททั่วประเทศ รวมถึงครอบครัวของพนักงาน และหาหากมีวัคซีนเหลือจะฉีดให้กับบรรดาร้านค้า ผู้ที่อาศัยอยู่รอบบริษัทเพิ่มเติมด้วย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ปัจจุบัน คาดว่าพนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนมีบ้างในพื้นที่เสี่ยง และลงทะเบียนฉีดวัคซีนแล้ว
“ปัจจุบันมีวัคซีนซิโนฟาร์มเข้ามาเป็นทางเลือก เงื่อนไขจะต้องมีค่าใช้จ่าย ขณะที่การเจรจาหาวัคซีนฉีดให้พนักงานยังเป็นตามนโยบายรัฐคือฟรี แต่หากต้องมีภาระค่าใช้จ่ายซื้อวัคซีนก็เปิดกว้างพนักงานแสนคนอาจใช้งบราว 30 ล้านบาท”
ปิยะ ประยงค์ :
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 2 เวลานี้ปัญหาคอขวดอยู่ที่วัคซีนของรัฐบาลยังไม่มาและหลังจากนี้จะจัดสรรอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาคอขวด ส่วนสถานที่ฉีดของพนักงานที่ลงทะเบียนไว้ราว 2,000 คน ตามคิวจะได้ฉีดเดือน มิ.ย. ส่วนใหญ่ฉีดที่โรงพยาบาลวิมุต เพราะเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป รัฐบาลน่าจะมาจัดสรรให้แล้ว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 1 มิถุนายน 2564