ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ทัน 1 ก.ค. จองเที่ยวบิน 142 เที่ยว/วัน สัญญาณดีท่องเที่ยวฟื้น – ดัชนีอุตฯ ดิ่งสุดรอบ 11 เดือน
"ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ทัน 1 ก.ค. จองเที่ยวบิน142เที่ยว/วัน สัญญาณดีท่องเที่ยวฟื้น ด้านดัชนีอุตฯดิ่งสุดรอบ11เดือน
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงกรณีการเปิดจ.ภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนโควิด-19หรือ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ว่า เรื่องนี้ยังจะไม่เข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในสัปดาห์นี้ เพราะจะต้องเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้พิจารณาก่อน คาดว่าจะเข้าภายในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำลังหารือกับกระทรวงสารณสุข (สธ.) จะหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์นี้ หากการหารือได้ข้อยุติและกระทรวงการท่องเที่ยวสามารถดำเนินการได้ตามที่สธ.แนะนำมาก็จะโครงการดังกล่าวก็จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภายใต้โมเดล ภูเก็ต แซนด์บ็อกช์ ว่า ขณะนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้มีการจัดสรรเวลาการบิน (สล็อต) ของสนามบินนานาชาติภูเก็ต ในเบื้องต้นไว้แล้ว ซึ่งความสามารถในการรองรับของสนามบินฯ สามารถรับได้ 480 เที่ยว/วัน แต่ขณะนี้มีสายการบินขอสล็อตเข้ามาประมาณ 142 เที่ยว/วัน ยังว่างอยู่อีกประมาณ 338 เที่ยว/วัน
โดยช่วงที่มีการเปิดจังหวัดภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตรงตามเงื่อนไข จัดอยู่ในช่วงซัมเมอร์ หรือระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-30 ตุลาคม 2564 คาดว่าหลังจากนี้จะมีสายการบินทยอยขอสล็อตเข้ามาเรื่อยๆ จากการประเมินสถานการณ์โควิด และสถานการณ์การท่องเที่ยว หลายฝ่ายประเมินว่าจะเริ่มฟื้นตัวปลายไตรมาสที่ 3-4 ส่งผลให้การทำการบินช่วงฤดูหนาว หรือตั้งแต่ 31 ตุลาคม 2564 – 26 มิถุนายน 2565 สนามบินนานาชาติภูเก็ต เบื้องต้นมีสายการบินจองสล็อตเข้ามาแล้วประมาณ 353 เที่ยว/วัน จากความสามารถในการรองรับรวม 480 เที่ยว/วัน
ขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2564 ว่า ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 82.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.3 ในเดือนเมษายน 2564 และต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มีปัจจัยลบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ยังไม่คลี่คลาย และยังเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมจนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 9 มิถุนายน 2564