โควิดทุบธุรกิจ "ปิดกิจการ" SME สายป่านสั้นเสี่ยงสูง
"พาณิชย์" เผยโควิดรอบ 3 เลิกกิจการมากขึ้น "หอการค้า" ห่วงธุรกิจสายป่านสั่นเสี่ยงเลิกกิจการ เร่งรัฐออกมาตรการต่อลมหายใจ ส.อ.ท.หวั่นโรงงานซัพพลายเชนธุรกิจท่องเที่ยวปิดตัวบางส่วน
การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มมา 1 ปี เศษ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างรุนแรง และทำให้ส่วนหนึ่งต้องปิดกิจการลง ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าช่วง 4 เดือน แรก ของปี 2564 มียอดจดทะเบียนเลิกกิจการ 3,090 ราย ซึ่งถือว่าจำนวนปิดการลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปี 2563 ที่มีการปิดกิจการ 3,986 ราย แต่ถ้าพิจารณาทุนจดทะเบียนของกิจการที่ยื่นปิดช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 24,988 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่า 18,240 ล้านบาท
สำหรับประเภทกิจการที่ยื่นขอจดทะเบียนปิดกิจการ 3 อันดับ แรกในช่วง 4 เดือน แรกของปีนี้ คือ
1.ก่อสร้างอาคารทั่วไป 274 ราย
2.อสังหาริมทรัพย์ 195 ราย
3.ภัตตาคารร้านอาคาร 111 ราย
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การจดทะเบียนเลิกธุรกิจเดือน เม.ย.2564 มีจำนวน 612 ราย โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 54 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 42 ราย คิดเป็น 7% และธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร 25 ราย คิดเป็น 4% ซึ่งประเภทของธุรกิจเลิกกิจการนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19
ทั้งนี้ การระบาดขระลอก 3 ที่กระจายวงกว้างเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นธุรกิจ แต่แผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีความชัดเจนมากขึ้น และเริ่มฉีดวัคซีนให้กับบุคคลกลุ่มเสี่ยงสูงและผู้สูงอายุ รวมถึงประชาชนในเดือน มิ.ย.นี้ จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการครึ่งปีหลังฟื้นตัว โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปรับเป้าการจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ปี 2564 จาก 64,000-65,000 ราย เป็น 67,000-69,000 ราย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบมากจากโควิด-19 ซึ่งอาจต้องปิดกิจการ รวมทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเลิกกิจการอันเพราะขาดสภาพคล่องและแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอีกไม่ได้จากหลายปัจจัย เช่น ราคาน้ำมันในประเทศที่สูงขึ้น, ความกังวลเสถียรภาพการเมืองในประเทศ, กังวลภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว, เงิบาทแข็งค่า ซึ่งทำให้รายได้ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงาน และเป็นปัจจัยลบที่ทำให้ผู้ประกอบการเลิกกิจการมากขึ้น
“ถ้าเราไม่อัดฉีดเงินเพื่อต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการได้จะกระทบเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐต้องเร่งทำที่สุด คือ นำเงินไปเยียวยาให้ทันเวลาทั้งซอฟต์โลนและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างสถาบันทางการเงินและผู้ประกอบการ และหากทำได้เร็วก็ยิ่งดี”
ทั้งนี้ ผู้ประกอบรายย่อยสายป่านไม่พอ และไม่มีเงินทุนเดินหน้าธุรกิจต่อเพื่อรอเศรษฐกิจฟื้น แต่ผู้ประกอบการที่มียังพอไปไหวมีสินทรัพย์พอที่นำไปขอสินเชื่อจากธนาคารก็ยังประคองการจ้างงานดังนั้นก็อย่าปล่อยให้จมน้ำตาย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โรงงานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1).โรงงานผลิตป้อนตลาดในประเทศส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการที่ฉีดวัคซีนได้น้อยทำให้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นและกำลังซื้อลดลง แต่หากฉีดวัคซีนได้เร็วตามเป้าหมายจะทำให้ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าจะค่อยๆฟื้นตัว
ทั้งนี้ โรงงานผลิตป้อนในประเทศเสี่ยงปิดตัวในบางกลุ่ม โดยปิดมากหรือน้อยขึ้นกับการระบาดและงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท ซึ่งถ้ามีมาตรการเยียวยาตรงจุด เช่น ช่วยค่าแรงให้ผู้ประกอบการ 50% การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เชื่อว่าอัตราการปิดกิจการจะไม่มาก แต่ถ้าดำเนินการได้ไม่ดีจะทำให้ผู้ประกอบการขาดเงินทุนจนต้องปิดกิจการ
ส่วนประเภทอุตสาหกรรมที่เสี่ยงปิดกิจการสูงจะผลิตป้อนธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้โรงแรม โรงงานอาหารให้โรงแรม โรงงานผลิตของที่ระลึกและจิวเวอรีเพื่อขายนักท่องเที่ยว รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร ภัตตาคาร
“หากเป็นเอสเอ็มอีอาจปิดไปเลยเพราะไม่มีทุนฟื้นกิจการ โดยรวมแล้วมีโรงงานที่ปิดตัวจากโควิดจะปิดชั่วคราว 50% รอจนเศรษฐกิจฟื้นตัวและปิดถาวร 50%”
2).โรงงานที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก มีแนวโน้มธุรกิจค่อนข้างดี โดยเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา ขยายตัวดี และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัว เช่น สหรัฐ รวมไปถึงรัสเซียที่เติบโตกว่า 50% และหลายประเทศเริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้โรงงานกลุ่มนี้ไปได้ดี แต่ยังห่วงการระบาดจะทำให้การผลิตสะดุดและอาจปิดโรงงานหรือสายการผลิต 14 วัน ทำให้ส่งสินค้าไม่ตรงเวลาจนโดนปรับ และกระทบความเชื่อมั่นลูกค้า
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 14 มิถุนายน2564