เมื่อวัคซีน "เมด อิน ไชนา" ถูกตั้งคำถามเรื่องประสิทธิภาพ
เมื่อวัคซีน "เมด อิน ไชนา" ถูกตั้งคำถามเรื่องประสิทธิภาพ โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเซเชลส์ พึ่งพาวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นหลักในช่วงเริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ แต่ภายหลังเริ่มใช้วัคซีนจากประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม
ผลการวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี บ่งชี้ว่า ในบรรดาประเทศที่มีทั้งอัตราการฉีดวัคซีนและอัตราการติดเชื้อโควิด-19 สูง ส่วนใหญ่พึ่งพาวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีน โดยรายงานชิ้นนี้มีขึ้น ในขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนจากจีนกำลังถูกตรวจสอบมากขึ้น เนื่องจากวัคซีนของจีนยังขาดข้อมูลในด้านประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าเดิม
รายงานของซีเอ็นบีซี ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายสัปดาห์ ซึ่งปรับค่าตามจำนวนประชากรยังคงเพิ่มสูงขึ้นในอย่างน้อย 6 ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในโลก และมี 5 ประเทศในกลุ่มดังกล่าวใช้วัคซีนจากจีน
ซีเอ็นบีซี ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลของ 36 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่มากกว่า 1,000 รายต่อประชากร 1 ล้านรายในรอบสัปดาห์ โดยใช้ตัวเลขจาก Our World in Data ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมถึงองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ), รัฐบาลประเทศต่างๆ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โดยมี 6 ประเทศในกลุ่มดังกล่าวมีประชากรมากกว่า 60% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส
ในจำนวน 6 ประเทศนั้น มี 5 ประเทศที่ใช้วัคซีนจากจีนเป็นวัคซีนหลักในโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เซเชลส์, มองโกเลีย, อุรุกวัย และชิลี ส่วนอีก 1 ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรมากกว่า 60% แล้วคืออังกฤษซึ่งไม่ได้ใช้วัคซีนจากจีน
สำนักข่าวมอนท์ซาเม( Montsame) ของมองโกเลีย รายงานเมื่อเดือนพ.ค.ว่า มองโกเลียได้รับวัคซีน 2.3 ล้านโดสจากซิโนฟาร์มซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ขณะที่ได้รับวัคซีนสปุตนิก วีของรัสเซียจำนวน 80,000 โดส และวัคซีนจากไฟเซอร์-ไบออนเทคประมาณ 255,000 โดส
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ชิลีฉีดวัคซีนซิโนแวคของจีนในปริมาณกว่า 16.8 ล้านโดสให้กับประชาชน เทียบกับของไฟเซอร์-ไบออนเทคจำนวน 3.9 ล้านโดส และวัคซีนอื่นๆ อีก 2 ชนิดในจำนวนที่น้อยกว่า
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเซเชลส์ พึ่งพาวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นหลักในช่วงเริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ แต่ภายหลังได้เริ่มใช้วัคซีนจากประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม ส่วนในอุรุกวัย วัคซีนของซิโนแวคเป็น 1 ใน 2 วัคซีนที่ใช้มากที่สุด ควบคู่ไปกับของไฟเซอร์-ไบออนเทค
ขณะเดียวกัน อังกฤษได้อนุมัติใช้วัคซีนของโมเดอร์นา, แอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์และแจนเซนส์ โดยผู้ติดเชื้อในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดมากขึ้น
แต่มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง เนื่องจากวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ 100% เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วยังสามารถติดเชื้อได้อยู่ ในเวลาเดียวกัน เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ อาจมีความสามารถต้านทานวัคซีนได้มากขึ้น
รายงานชิ้นนี้ระบุด้วยว่า หลายประเทศและดินแดนที่อนุมัติการใช้งานวัคซีนซิโนฟาร์มและซิโนแวคนั้นส่วนมากเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่ร่ำรวยกว่าเพื่อจัดซื้อวัคซีนที่พัฒนาในสหรัฐและยุโรปได้
ทางเลือกที่ดีที่สุดของหลายประเทศ :
บรรดานักระบาดวิทยา มีความเห็นว่า ประเทศต่างๆไม่ควรเลิกใช้วัคซีนที่ผลิตจากจีน โดยเฉพาะในช่วงที่ปริมาณวัคซีนยังคงมีจำกัดในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ
“เบน คอว์ลิง” ศาสตราจารย์จากคณะสุขภาพสาธารณะมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า “ประเทศต่างๆอาจตัดสินใจใช้วัคซีนตัวใดตัวหนึ่งที่แน่นอนไปเลยขึ้นอยู่กับเป้าประสงค์ในระยะยาวของประเทศนั้นๆ บางประเทศอาจใช้วัคซีนไม่มาก ตราบใดที่มียอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ไม่เยอะ”
อย่างไรก็ตาม บางประเทศก็แสดงออกชัดเจนว่าไม่ต้องการวัคซีนที่ผลิตจากจีน เช่นกรณีของคอสตาริกา ที่เมื่อเดือนที่แล้ว ปฏิเสธไม่รับวัคซีนซิโนแวคหลังจากได้บทสรุปว่าวัคซีนนี้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ผ่านการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก :
องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ว่า ได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยซิโนแวค ไบโอเทคของจีน เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นวัคซีนโควิดของจีน ตัวที่สองที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ต่อจากวัคซีนของซิโนฟาร์ม
ในแถลงการณ์ของดับเบิลยูเอชโอ ระบุด้วยว่า คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระได้แนะนำใช้วัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค กับผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี โดยให้ฉีดโดสที่สองในอีก 2-4 สัปดาห์หลังฉีดโดสแรก
ดร.ทีโดรส อัดนาฮอม กีเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ดับเบิลยูเอชโอ แสดงความยินดีที่วัคซีนโคโรนาแวคของซิโนแวคได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินหลังพบว่ามีความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และคุณภาพ เมื่อฉีดวัคซีนเชื้อตายนี้ครบ 2 โดส
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนผลิตในจีนสองตัวนี้ต่ำกว่าวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคและโมเดอร์นา ซึ่งวัคซีนทั้งสองตัวนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันกว่า 90%
วัคซีนของซิโนฟาร์มมีประสิทธิภาพในการป้องกัน 79% แต่ประสิทธิภาพในกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีและ60ปีขึ้นไปยังไม่ชัดเจน ส่วนประสิทธิภาพวัคซีนของซิโนแวคอยู่ที่ประมาณ 50% ถึงกว่า80% ขึ้นอยู่กับประเทศที่ทำการทดลองฉีดวัคซีนชนิดนี้
บรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า การทดลองทางคลีนิกไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง เนื่องจากการทดลองแต่ละครั้งดำเนินการแตกต่างกันแต่ผลศึกษาในฮ่องกงพบว่าระดับแอนตี้บอดี้สูงขึ้นมากในคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนไบออนเทคเทียบกับกลุ่มคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 9 กรกฏาคม 2564