Phuket Sandbox สีสันแห่งความหวัง ฟื้นการท่องเที่ยว "ภูเก็ต"
ในขณะที่ "Phuket Sandbox" เปิดตัวไปแล้วอย่างเป็นทางการ 1 กรกฎาคม 2564 พร้อมกิจกรรม "Colourful Phuket" Bring Back the Happiness ที่จะมีกิจกรรมสีสันคัลเล่อร์ฟูล ตลอดเดือนกรกฎาคม 2564
กิจกรรม “Colourful Phuket” Bring Back the Happiness จัดขึ้นเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศอย่างเต็มที่ ด้วยเป้าหมาย 3 เดือนแรก 1.29 แสนคน ซึ่งล่าสุด รัฐบาลขอปรับเป้าลงมานิด เหลือแสนคน รายได้ประมาณ 8.9 พันล้านบาท
ไม่ว่าจะเป้าเท่าไร แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของภูเก็ต ซึ่งมีถึงกว่า 95% ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ก็มองว่า “Phuket Sandbox” คือความหวัง ที่จะทำให้พวกเขากลับมาลืมตาอ้าปากกันได้อีกครั้ง
ความสวยงามของความหวังครั้งนี้ นำร่องด้วยกิจกรรม “Colourful Phuket” Bring Back the Happiness
ริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 วันที่ 3 - 9 กรกฎาคม 2564 จัดตกแต่งสีสันบริเวณย่านเมืองเก่าภูเก็ตและบริเวณหาดป่าตอง ด้วยจุดถ่ายภาพเช็คอินสไตล์ Colourful มีการออกร้าน Food Truck ชั้นนำจากท้องถิ่น ชมการแสดงดนตรี และการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุรีไซเคิล (Recycle Art) สัปดาห์ที่ 2 วันที่ 10 - 16 กรกฎาคม 2564 กิจกรรมเซิร์ฟ จุดถ่ายภาพสีสันในธีม Beach Vibes บริเวณหาดกะตะ และกิจกรรมโยคะชมพระอาทิตย์ตกบริเวณแหลมพรหมเทพ
สัปดาห์ที่ 3 วันที่ 17 - 23 กรกฎาคม 2564 การจัดแสดง Digital Art ตกแต่งชายหาดให้เป็นจุดถ่ายภาพเช็คอินที่มีสีสัน ชม Street Music บริเวณหาดป่าตอง และสัปดาห์ที่ 4 วันที่ 24 - 31 กรกฎาคม 2564 การแสดงแสงสีประดับสถาปัตยกรรม และชม Street Music บริเวณย่านเมืองเก่าภูเก็ต
การเปิด “Phuket Sandbox” คือจังหวัดนำร่อง หลังจากนั้นเดือนสิงหาคม-กันยายน ก็จะเปิด กระบี่และพังงา ตามมา ซึ่งตอนนั้น น่าจะทำให้การท่องเที่ยวภาคใต้ของไทย กลับมาสมบูรณ์มากขึ้น เพราะขณะนี้ แม้จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว แต่กฎเกณฑ์มาตรการป้องกันยังเยอะและไม่ชัดเจน ทำให้ตัวเลขการจองยังไม่แจ่มใส
“คุณโก้-ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เล่าว่า เดือนสิงหาคม หลังเปิดจังหวัดพังงา และกระบี่ รวมทั้งมีการคลายล็อกมาตรการบางอย่างเพิ่มเติม น่าจะทำให้การท่องเที่ยวในภูเก็ตได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น
ที่ผ่านมา ภูเก็ตและจังหวัดท่องเที่ยวทางภาคใต้ เป็นจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็น
ส่วนใหญ่ จากบทเรียนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 หรือภัยทางธรรมชาติที่ภูเก็ตเคยประสบมา ทำให้ภูเก็ตให้ความสำคัญยิ่งขึ้นกับกลยุทธ์ GEMMSS ที่จะทำให้ภูเก็ตเติบโตได้อย่างยั่งยืน
GEMMSS ประกอบด้วย Gastronomy : การแปรรูป การเกษตร, Education : การศึกษาเพิ่มโรงเรียนนานาชาติมากขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษา, Medical & Wellness : ศูนย์กลางการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ, Marina : อุตสาหกรรมต่อเรือ ซ่อมเรือ, Sport : ท่องเที่ยวกีฬา เก็บตัวนักกีฬา และ Smart City : เมืองอัจฉริยะ พัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางการพักร้อนและทำงาน(Workation)
ล่าสุดยังเติมตัว T : ทูน่า เข้าไปอีกหนึ่งตัว ด้วยการปลุกปั้นให้ภูเก็ตเป็น ทูน่าฮับ หลังจากภูเก็ตได้โควต้าจับปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดีย เป้าหมายที่วางไว้ คือ การทำให้ภูเก็ตเป็นเมืองสวรรค์แห่งซีฟู้ด “ถ้าเราทำตรงนี้สำเร็จ เราจะมีตลาดกลางปลาหรืออาหารทะเล” ขนาดใหญ่ของภูมิภาค และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าสู่ภูเก็ตได้อีกด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 14 กรกฏาคม 2564