สภาหอการค้าฯ ชี้ชัด มาตรการเยียวยาไม่เพียงพอ ช่วยพยุง GDP ได้เพียง 0.1-0.3% เทียบไม่ได้กับความเสียหายที่อาจสูงถึง 1% จี้รัฐช่วยเหลือเพิ่ม
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากการประเมินเบื้องต้นของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่า มาตรการเยียวยาผลกระทบการประกาศเคอร์ฟิวและล็อกดาวน์ล่าสุดของรัฐบาลวงเงินรวม 4.2 หมื่นล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้เพียง 0.1-0.3% ของจีดีพี ซึ่งยังน้อยกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการประกาศมาตรการที่ประเมินเอาไว้ 0.7-1% ของจีดีพี หรือราว 1-2 แสนล้านบาท ค่อนข้างมาก จึงอยากให้ภาครัฐเร่งพิจารณามาตรการเสริมด้านอื่นๆ ออกมาโดยเร็วเพื่อประคองไม่ให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงแรง
“เรามองว่ามาตรการเยียวยาที่ออกมายังน้อยอยู่ อาจจะทำได้แค่เพียงช่วยบรรเทาในเชิงค่าครองชีพของคนเท่านั้นแต่ยังไม่สามารถชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากมุมมองของภาคเอกชน รัฐบาลคงต้องหามาตรการอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติมอีก ส่วนจะเป็นมาตรการทางด้านใดบ้าง หอการค้าจะมีการประชุมสมาชิกในวันพรุ่งนี้เพื่อรวบรวมข้อเสนอของเราส่งต่อไปให้รองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” สนั่นกล่าว
ด้าน สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่ามาตรการเยียวยาที่ออกมาให้กับแรงงานใน 9 สาขาวิชาชีพ คงไม่สามารถครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เนื่องจากในเวลานี้ทุกธุรกิจและทุกสาขาอาชีพต่างได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
สุพันธ์ุกล่าวว่า นอกจากมาตรการช่วยเหลือด้านค่าแรงแล้ว สิ่งที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีอยากเห็นมากที่สุดในเวลานี้คือ มาตรการที่ช่วยให้เข้าถึงสภาพคล่อง โดยอยากเสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้กลุ่ม SMEs จาก 40% เป็น 80% นอกจากนี้ยังอยากให้ภาครัฐพิจารณาลดค่าไฟฟ้าให้กับธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาเพื่อลดต้นทุนด้วย
“เร็วๆ นี้ เราจะคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อขอให้ปรับปรุงเงื่อนไขในประกาศของ ธปท. ที่ระบุว่า การจะให้ความช่วยเหลือด้วยการใส่สภาพคล่องกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ลูกหนี้รายนั้นต้องยังพอมีศักยภาพ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้เพราะการจะพิจารณาว่าลูกค้ามีศักยภาพหรือไม่ในภาวะปัจจุบันนั้นทำได้ยาก” สุพันธุ์กล่าว
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่ามาตรการเยียวยาของภาครัฐในรอบนี้มุ่งเน้นไปที่การชดเชยค่าครองชีพให้กับแรงงานเพื่อซื้อเวลาให้คนสามารถอยู่บ้านตามมาตรการทางสาธารณสุขในระยะเวลา 14 วัน ถึง 1 เดือนให้ได้ก่อน รวมถึงช่วยประคองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ยังมีการจ้างงาน ทำให้วงเงินที่ออกมาอาจยังไม่มากนัก
“สำหรับกลุ่มคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ตัวเลขชดเชยที่เคาะออกมา 50% ของค่าจ้าง รวมไม่เกินคนละ 10,000 บาท แล้วบวกให้อีก 2,500 บาท ถือว่าโอเค แต่คำถามคือกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เช่น แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ซึ่งเขาได้รับผลกระทบเหมือนกันจะทำยังไงให้ครอบคลุมคนกลุ่มนี้ด้วย” นริศกล่าว
นริศกล่าวอีกว่า หากมองในระยะยาวเม็ดเงินเยียวยาที่ออกมาในรอบนี้คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน แต่เชื่อว่าภาครัฐจะเตรียมมาตรการทางเศรษฐกิจที่แรงกว่าเอาไว้แล้วเพื่อปล่อยออกมาในตอนที่สถานการณ์ด้านสาธารณสุขดีขึ้น เหมือนการเก็บกระสุนเอาไว้ยิงตอนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจพร้อมจะกลับมาหมุนได้อีกครั้ง
ที่มา thestandard.co
วันที่ 13 กรกฏาคม 2564