กนอ.เผยทุนญี่ปุ่นเชื่อมั่นลงทุนในไทยเกิน 60% เล็งนำเข้าวัตถุดิบ-ชิ้นส่วน

กนอ.เผยนักลงทุนญี่ปุ่นยังสนใจลงทุนในไทยเกิน 60% เล็งพาร์ทเนอร์ไทยผลิตชิ้นส่วนในนิคมอุตสาหกรรมป้อนโรงงานเพิ่ม พร้อมเป็นตัวกลางช่วยผู้ประกอบการในนิคมฯ และผู้ผลิตได้สร้างโอกาสทางธุรกิจ
 
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมร่วมกับนายอัทซึชิ ทาเคทาชิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) โดยเจโทรได้ทำการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี สำหรับผลการสำรวจในครึ่งปีแรกของปี 2564 มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ระบุว่า ยังมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 60% นอกจากนี้ จากปัญหาเรื่องการระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ส่งผลกระทบต่อการขนส่งระหว่างประเทศที่ทำได้ยากขึ้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตไทยมากขึ้น โดยอาจจะลดการนำเข้า เพราะมีความเสี่ยงเรื่องขนส่ง ดังนั้นจึงมองว่าเป็นโอกาสของผู้ผลิตในนิคมฯ เพราะมีความสามารถในการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งหากประเด็นดังกล่าวมีความชัดเจนขึ้น ทาง กนอ.จะได้ช่วยให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสหารือกันเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อไป
 
“จากการที่ กนอ.ได้หารือกับเจโทร พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทย และถึงแม้ว่าจะมีผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกได้ในช่วงครึ่งปีหลัง  แต่ช่วงที่โควิด-19 กลับมาระบาดอีกรอบก็ต้องยอมรับว่า การขนส่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ของปี่ปุ่นทำได้ยาก ดังนั้นญี่ปุ่นก็มองว่า หากได้พาร์ทเนอร์ชาวไทยที่ผลิตพวกวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนโดยเฉพาะในนิคมฯ ก็จะลดปัญหาเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศได้มาก เพราะในนิคมฯ ก็มีผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมที่โดดเด่นต่างกัน กนอ. ก็พร้อมให้ความสนับสนุนเต็มที่ อาจจะเป็นในรูปแบบการเจรจาระหว่างผู้ผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในแต่ละธุรกิจให้ได้มาหารือกัน ซึ่งถ้ามีโอกาสตรงนั้น กนอ.พร้อมช่วยเป็นผู้ประสาน เพื่อให้เกิดการลงทุนและจ้างงานในนิคมฯ เพิ่มขึ้น” 
 
นอกจากนี้ เจโทรยังได้เปิดเผยอีกว่า นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจในนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจชีวภาพ หรือบีซีจี โดยผู้ตอบแบบสำรวจกว่าครึ่งระบุว่า ยังสนใจสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับบีซีจี โดยเฉพาะในประเด็นพลังงานสีเขียว เช่น ไฟฟ้าหรือไอน้ำจากพลังงานทดแทน ประเด็นผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน เช่น ชิ้นส่วนประหยัดพลังงานในรถยนต์ เซลล์แสงอาทิตย์และวัสดุที่เกี่ยวข้อง  เซลล์เชื้อเพลิง เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เป็นต้น รวมทั้งประเด็น เและการบำบัดหรือกำจัดกากอุตสาหกรรมด้วย
 
สำหรับภาพรวมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม นักลงทุนญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 37.36% รองลงมาคือนักลงทุนจากประเทศจีน 8.16% อเมริกา 6.79% สิงคโปร์ 6.78% และไต้หวัน 4.11% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 10.91% รองลงมาคืออุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 9.97% อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 8.3% อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 7.65% อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ 6.6% 
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 1 สิงหาคม 2564 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)