"กฤษณะ วจีไกรลาศ" เบื้องหลังความสำเร็จ 25 ศูนย์ฉีดวัคซีนหอการค้าไทย
ความสำเร็จของ “หน่วยความร่วมมือฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” หรือที่เรียกว่าศูนย์ฉีดวัคซีนเอกชนทั้ง 25 ศูนย์ เกิดจากความเสียสละทุ่มเทการทำงานร่วมกันระหว่างกรรมการหอการค้าแห่งไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหลายภาคส่วน
ซึ่งคงไม่มีใครรู้ว่าเบื้องหลังงานนี้ คณะทำงานทั้งตัวแทน ภาคเอกชน กทม. บุคลากรทางการแพทย์ต่างเสียสละทั้งกำลังแรงกาย งบประมาณ รวมถึงเวลาส่วนตัว เพื่อประสานงานขับเคลื่อนศูนย์นี้ ทั้งยังจะต้องประชุมประเมินสถานการณ์ทุกคืนหลังปิดศูนย์ เพื่อจะได้รู้ว่าปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงานแต่ละวันคืออะไร และจะต้องปรับแก้ไขกันอย่างไร นั่นเป็นคำบอกเล่าของ
“ดร. กฤษณะ วจีไกรลาศ” กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แม่ทัพหลักภารกิจนี้ ที่ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการกลับมาฉีดวัคซีนอีกครั้ง หลังจากได้รับจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 750,000 โดส มาให้บริการในศูนย์กระจายวัคซีนเอกชน 25 ศูนย์ เมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (นับจากวันที่ 7 สิงหาคม 2564)
1 สัปดาห์หลังการเปิดฉีด :
เราพบว่ามีประชาชนมาฉีดวัคซีนเฉลี่ยวันละ 37,000 คน ลดลง 10-15% จากครั้งก่อนหน้า และยังต่ำกว่าความสามารถของศูนย์ที่รับได้ 40,000 ถึง 50,000 คน
“สาเหตุที่คนมาน้อย เป็นเพราะว่าประชาชนมีการลงทะเบียนและไปฉีดวัคซีนด้วยมาตรการอื่นด้วย เช่น ม.33 บ้าง หรือไปฉีดที่อื่นอย่างเช่นสถานีกลางบางซื่อ หรือบางส่วนถูกกัตัว เดินทางกลับต่างจังหวัดหลังจากที่มีการใช้มาตรการล็อคดาวน์”
อย่างไรก็ตาม ยังประเมินว่าศูนย์ทั้งหมดจะสามารถฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผนการฉีดวัคซีนเป้าหมาย 750,000 โดสในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ และคาดว่าในเดือนต่อไปก็จะได้รับจัดสรรเพิ่มอีก 750,000 โดส และหากภาคเอกชนสามารถจัดหาวัคซีนทางเลือกมาได้ศูนย์นี้ก็พร้อมจะเป็นจุดให้บริการรับฉีดและกระจายวัคซีนต่อไปด้วย
แผนการฉีดวัคซีนลอตนี้เป็นอย่างไร :
สำหรับแผนการฉีดวัคซีนของ 25 ศูนย์จากปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรร 750,000 โดส สำหรับเดือนสิงหาคม จะถูกแบ่งออกเป็น 4 สัปดาห์ โดย 3 สัปดาห์แรกจะฉีดสัปดาห์ละ 175,000 โดส และสัปดาห์สุดท้ายจะฉีด 225,000 โดส
โดยกลุ่มผู้เข้ารับบริการจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัยซึ่งจะมีอายุตั้งแต่ 18-59 ปี และมีผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่ตั้งครรภ์ด้วย จำนวน 780,951 คน ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนในระบบไทยร่วมใจมาในเดือนสิงหาคมนี้อีก 688,539 คน จะได้รับการจัดสรรวัคซีนในเดือนกันยายน
ระบบกระจายลดความแออัด :
เราได้วางระบบการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนของศูนย์ได้วางระบบความพร้อมในการนัดหมายผ่านการลงทะเบียนไทยร่วมใจเพื่อกระจายผู้ฉีดวัคซีนลดความแออัด ให้ไม่ต้องมารอคิวจนเกิดความหนาแน่นเสี่ยงการติดเชื้อ แต่ทุกคนจะมาตามกำหนดตารางนัดหมายตั้งแต่ 9.00-15.00 น. และไม่ให้การวอร์คอิน
เอกชนหวังช่วยรัฐ :
ภาคเอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการช่วยแบ่งเบาภาระในการจัดและกระจายวัคซีน จะเห็นว่าแต่ละรายมีการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น แต่ละศูนย์จะต้องมีอาสาสมัครที่ประจำอยู่ประมาณ 150 ถึง 200 คนต่อวัน หากนับรวม 25 ศูนย์ก็เท่ากับจะต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำถึงประมาณ 5,000 คนต่อวัน ไม่ต้องคิดถึงอัตราค่าแรงเลย เพราะก็เป็นอัตราที่สูงตามเรทของวิชาชีพด้วย
อีกทั้ง หอการค้ายังได้จัดทำครัวหอการค้าไทยเพื่อสนับสนุนอาหารสำหรับอาสาสมัคร และบางศูนย์ก็มีบริษัทต่างๆที่เป็นสมาชิกหอการค้าจัดสรรอาหารและเครื่องดื่มมาให้บริการกับบุคลากร เช่นโอสถสภา โออิชิ เอ็มเค เป็นต้น
“เอกชนพร้อมที่จะช่วยภาครัฐ ลองคิดดูถ้าหากศูนย์เอกชนฉีดเต็มที่วันละ 50,000 คน 10 วันก็เท่ากับ 500,000 คน สถานีกลางบางซื่อที่ฉีดวันละ 20,000 คนถ้าทั้งสองแห่งรวมกำลังกันก็จะทำให้แต่ละวันมีผู้ที่ได้รับวัคซีนถึงวันละ 70,000 คน การกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วขนาดไหน การฉีดวัคซีนได้เร็วไม่เพียงจะช่วยด้านสังคม แต่จะส่งผลดีกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย”
วอนกระจายวัคซีนสม่ำเสมอ :
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือภาคเอกชนขอให้รัฐจัดสรรวัคซีนให้ศูนย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้เร่งกระจายวัคซีนโดยเร็ว ยกตัวอย่าง เช่น ในเดือนแรกที่เปิดศูนย์ได้รับการจัดสรรวัคซีน 500,000 โดส เดือนที่สองลดลงเหลือ 200,000 โดสและเพิ่งจะได้รับการจัดสรรเพิ่มในเดือนนี้ 750,000 โดส
“ อยากให้รัฐบาลเห็นประโยชน์ของภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยทั้งการประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ วันละไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาทต่อศูนย์ และขณะนี้ศูนย์ของภาคเอกชนไม่เพียงจะต้องรับผิดชอบ ดูแลประชาชนที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกเท่านั้น แต่ยังจะต้องดูแลประชาชนที่จะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่สองในวันที่ 30 กันยายนนี้อีกด้วย ตอนนี้คนที่ลงทะเบียนผ่านไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัยประมาณ 6 ล้านคน มีคนที่รอรับการฉีดอีก 1.5 ล้านคน”
“เรามองว่าศูนย์นี้ยังต้องเปิดให้บริการไปอีกระยะเวลานานพอสมควร หากจะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่สามก็อาจจะต้องใช้ศูนย์นี้ต่อไปอีก หรือแม้แต่ในอนาคตเรามองถึงโอกาสที่อาจจะพัฒนาส่วนนี้ไปให้บริการเป็นจุดตรวจ antigen test kit ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องจัดระบบและบริหารจัดการให้ดี ป้องกันไม่ให้เป็นมีการแพร่เชื้อ”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 14 สิงหาคม 2564