บ.ญี่ปุ่นแห่ลงทุนธุรกิจดูแลสุขภาพเวียดนาม
ซูมิโตโม บ.ญี่ปุ่น ประกาศแผนลงทุนหลายสิบล้านดอลลาร์ในธุรกิจการดูแลสุขภาพในเวียดนาม เตรียมให้บริการด้วยระบบดิจิทัล
“ซูมิโตโม คอร์ป” บริษัทนำเข้า-ส่งออกและเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนทั่วโลกสัญชาติญี่ปุ่นประกาศแผนลงทุนหลายสิบล้านดอลลาร์ใน“อินสมาร์ท”ธุรกิจดูแลสุขภาพในเวียดนาม
พร้อมทั้งเตรียมเปิดการบริการในรูปแบบดิจิทัลในช่วงที่ต้นทุนในการรักษาสุขภาพและการเข้าพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เว็บไซต์ข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า การประกันสุขภาพเอกชนในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าระบบดูแลสุขภาพที่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลยังมีขนาดเล็กมาก
ด้วยเหตุนี้ บริษัทบริหารจัดการด้านการดูแลสุขภาพจึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างบริษัทประกันและสถาบันทางการแพทย์ รวมทั้งจัดหาการบริการด้านต่างๆแก่คนไข้ โดยอินสมาร์ท ครองส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วน 60% ในตลาดดูแลสุขภาพของเวียดนาม มีลูกค้า 1.5 ล้านคน
ขณะที่ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ความต้องการการบริการด้านการดูแลสุขภาพจะช่วยลดต้นทุนทางการแพทย์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ โดยคาดการณ์ว่าตลาดด้านการดูแลสุขภาพในเวียดนามจะขยายตัวเฉลี่ยปีละกว่า20% ส่วนในมาเลเซียคาดว่าจะขยายตัวกว่า 10%
ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพต้องบริหารจัดการงานต่างๆให้แก่บริษัทประกัน เช่น การประเมินค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ควบคู่ไปกับการเคลมประกันและการจ่ายเงินชดเชย
ในส่วนของอินสมาร์ท เสนอการบริการรูปแบบต่างๆแก่ลูกค้า รวมทั้ง ใบสั่งยาทางออนไลน์ รวมทั้งการอ้างอิงชื่อผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ และการเข้าถึงบันทึกทางการแพทย์ ตลอดจนข้อมูลทางการแพทย์ผ่านแอพพลิเคชัน
ซูมิโตโม มีแผนขยายการบริการผ่านแอพฯที่ครอบคลุมถึงเทเลเมดิซินและการบริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์และการขนส่งยารักษาโรคต่างๆ โดยซูมิโตโมลงทุนใน Health Connect Holdings และ PMCare ในมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งทั้งสองบริษัทมีลูกค้ารวมกัน 3 ล้านคน และเมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว ซูมิโตโมเปลี่ยนทั้งสองบริษัทให้เป็นหน่วยงานย่อย พร้อมทั้งเพิ่มการบริการเทเลเมดิซีนและการบริการจ่ายยาผ่านแอพฯ
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กระแสนิยมใช้แอพฯเพื่อสั่งซื้อยา รับฟังคำปรึกษาทางออนไลน์และแม้กระทั่งหาแพทย์ผ่านแอพฯกำลังมาแรงในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สวนทางกับในญี่ปุ่นที่เทเลเมดิซีนไม่ประสบความสำเร็จมากนักในหมู่ผู้บริโภคชาวอาทิตย์อุทัย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าความวิตกกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ซูมิโตโมมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจในต่างประเทศและเห็นว่าหลายตลาดยังมีความน่าสนใจอยู่มาก โดยเฉพาะธุรกิจการบริการรูปแบบใหม่ๆและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโนว์-ฮาว
ไม่ได้มีแค่ซูมิโตโมเท่านั้นที่ประกาศแผนลงทุนในธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพในอาเซียน มิตซุย แอนด์ โค ก็กระโดดเข้ามาชิงส่วนแบ่งเค็กในธุรกิจนี้ในมาเลเซียด้วยเหมือนกันโดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้ด้วยการลงทุนในสตาร์ทอัพ "MiCare HealthTEC Holdings" หนึ่งในสองผู้เล่นหลักของประเทศ ซึ่งเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยและในฟิลิปปินส์ด้วย
มิตซุย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน IHH Healthcare กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่สุดของเอเชีย มีแผนให้การวิเคราะห์บิ๊กดาต้าช่วยปรับปรุงความสามารถในการทำกำไรแก่ธุรกิจทางการแพทย์และตั้งเป้าทำรายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและต้นทุนอื่นๆจากปีงบการเงิน 2563 เพิ่มขึ้นให้ได้สองเท่าภายในปีงบการเงิน 2568
ส่วนโตโยต้า ทูโช ประกาศลงทุนในสตาร์ทอัพครอสส์ ซิงค์ เมื่อเดือนมี.ค. เพื่อพัฒนาระบบที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)ช่วยมอนิเตอร์คนไข้ในห้องไอซียูตลอด 24 ชั่วโมง มองหาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในโรงพยาบาลที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจทั้งในอินเดียและประเทศอื่นๆ
กระแสนิยมลงทุนในธุรกิจดูแลสุขภาพของบริษัทญี่ปุ่นในเวียดนามมีขึ้นในช่วงที่สหรัฐเล็งเห็นประโยชน์จากการที่เวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมือง มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)อย่างต่อเนื่องและมีการค้า-การลงทุนอย่างไม่สะดุด จึงทำให้ตัดสินใจเปิดศูนย์ซีดีซี ที่กรุงฮานอยเมื่อไม่นานมานี้
“คามาลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีสหรัฐ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (ซีดีซี) ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กรุงฮานอย โดยสำนักงานประจำภูมิภาคแห่งใหม่นี้ จะทำงานร่วมกับสำนักงานของซีดีซีในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของซีดีซีในการปฏิบัติภารกิจปกป้องบรรดาผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ เพื่อตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์เพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพสำคัญที่มีร่วมกัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 กันยายน 2564