"หอค้า" มองการเมืองขัดแย้งแต่ไม่รุนแรง จี้รัฐฉีดวัคซีน-เปิดประเทศ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองที่เริ่มมีความขัดแย้งรุนแรงภายในพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล ว่า สถานการณ์การเมืองตอนนี้มองว่าไม่รุนแรง ถึงแม้จะมีการขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็ยังมีความเชื่อมั่นว่าจะเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะนโยบายการเปิดเมืองกันต่อเพื่อประชาชน โดยเวลานี้ปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข คือปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ทั้งเรื่องของการนำเข้าวัคซีนให้ได้ตามแผนและการกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเดินหน้าในเรื่องของการเปิดประเทศอย่างปลอดภัยตามที่ตั้งใจไว้ เพื่อให้ พร้อมกับมาตรการกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้
นายสนั่น กล่าวว่า ตอนนี้บรรยากาศ ของเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากมีการคลายล็อคดาวน์ จากการที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ว่าต่ำสุดในรอบ 23 ปี แต่ก็เป็นผลจากเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตอนนี้ แม้ว่าตอนนี้แม้จะยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็มีแนวโน้มจะเริ่มกลับมา ดังนั้นเพื่อให้เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลก็จำเป็นต้องเร่งมาตรการต่างๆ ออกมา
นายสนั่น กล่าวว่าสำหรับภาพรวมการส่งออก 7 เดือนแรกของปี (มกราคม – กรกฎาคม 2564 ) ขยายตัว 16.20% แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี สะท้อนจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักสำคัญของไทยที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีน ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายๆประเทศ ทำให้ภาคบริการฟื้นตัว ผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ ภาคการผลิตยังคงขยายตัวดี เงินบาทที่อ่อนค่าช่วงนี้ ยังเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออก ตอนนี้ที่ต้องจับตาดูคือราคาค่าขนส่งสินค้าในหลายตลาดที่อาจกระทบต้นทุนสินค้าได้
นายสนั่น กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ที่มองว่า จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี ภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานได้ทั่วถึง ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษา ซัพพลายเชนของภาคการผลิตไม่ให้ต้องหยุดชะงักจากการระบาดในกลุ่มแรงงาน โดยกกร.ได้ปรับเป้าหมายตัวเลขส่งออกเป็น 12-14% จากเดิม 10-12% พร้อมปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย(จีดีพี) ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ -0.5-1% จากก่อนหน้านี้คาดอยู่ในกรอบ -0.5-0%
นายสนั่น กล่าวว่า ตรงนี้ทางเอกชนก็ได้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ อย่างใกล้ชิดให้มีการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การส่งออก อย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไก คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเดินหน้าการค้าของไทยสู่ตลาดโลก ในการร่วมหารือประเด็นสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย เพิ่มเติม ทั้งการแก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบรรจุสินค้า และการปรับเพิ่มค่าระวางเรือ ที่สูงขึ้น และการปรับแก้ไขปัญหาประเด็นถ่ายลำและผ่านแดน ประเด็นด้านการค้าชายแดน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 12 กันยายน 2564