ส่งออกทะยานทุบสถิติ 10 ปี อานิสงส์ ศก.โลกฟื้น-ค่าระวางเรือพุ่ง 4 เท่าตัวถ่วง

เอกชนลุ้นส่งออกปี 64 ทำนิวไฮ ขยายตัวสูงสุดรอบ 10 ปี ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สรท.ระบุ 5 เดือนสุดท้ายยังมี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องฝ่าฟัน ทั้งค่าระวางเรือพุ่งเกินครึ่งล้านต่อตู้ ขาดแคลนชิพ พ่วงโควิดลามคลัสเตอร์โรงงาน รถยนต์-ยางพารา-การ์เมนต์เล็งเข้าเป้า
 
ภาคการส่งออก เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพียงเครื่องยนต์เดียวที่ยังพอมีแรงช่วยขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ยังถือเป็นความหวังในการพยุงเศรษฐกิจปีนี้ไม่ให้ติดลบ ภาพรวมช่วง 7 เดือนแรกไทยส่งออกมูลค่า 154,985 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4.72 ล้านล้านบาท) ขยายตัว 16.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดือนที่เหลือของปีนี้ส่งออกไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น
 
ส่งผลให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออกปรับคาดการณ์เพิ่มขึ้น โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ปรับคาดการณ์ส่งออกปี 2564 จาก 10% เป็น 10-12% และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับคาดการณ์จาก 10-12% เป็น 12-14% (ณ ก.ย.64) ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายไว้ที่ 4%
 
ลุ้นขยายตัวสูงสุดรอบ 10 ปี :
 
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท.เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส่งออกไทยปีนี้คาดจะขยายตัวได้ที่ 10-14% โดยการขยายตัวที่ 10% ไม่น่ามีปัญหามีโอกาสเป็นไปได้ 100% เพราะในอีก 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ต้องทำให้ได้เฉลี่ย 19,926 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน ซึ่งเทียบกับ 5 เดือนสุดท้ายปี 2563 ที่มีสถานการณ์โควิดเช่นกัน ไทยส่งออกได้เฉลี่ย 19,652 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน แต่ปีนี้สถานการณ์ส่งออกไทยถือว่าดีกว่า ส่วนการขยายตัวที่ 12% หรือเฉลี่ยต้องทำให้ได้ 20,852 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน มองว่ามีความเป็นไปได้ 60% และการส่งออกขยายตัวที่ 14% หรือเฉลี่ยที่ 21,778 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนมองว่ามีความเป็นไปได้ 30%
 
“ฟันธงว่าส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวที่ 10% มีความมั่นใจ 100% ส่วนขยายตัว 12% มีความเป็นไปได้สูงรองลงมาที่ 60% และขยายตัวที่ 14% มีความมั่นใจ 30% อย่างไรก็ดีการส่งออกไม่ว่าจะขยายตัวที่ 10% 12% หรือ 14% จะถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี และมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์(กราฟิกประกอบ)”
 
3 ปัจจัยเสี่ยงต้องฝ่าด่าน :
 
ทั้งนี้การส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้ หลายสินค้าส่งออกสำคัญยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง (ส่วนใหญ่จะมีการส่งมอบสินค้าช่วงเดือนก.ย.-พ.ย.) ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ส่วนที่ยังติดลบ เช่น ข้าว น้ำตาล อาหารทะเลกระป๋อง)
 
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 3 ประการที่อาจส่งผลกระทบ ได้แก่ 1. การขาดแคลนพื้นที่ระวางเรือเนื่องจากปลายปีเป็นช่วงที่แต่ละประเทศเร่งส่งออก (พีค ซีซั่น) และค่าระวางเรือยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นและยังขึ้นไม่หยุด โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป และอเมริกา ตัวอย่างเส้นทางไปสหรัฐฯ ณ เดือนสิงหาคม ขนาดตู้ 40 ฟุตมีค่าระวางประมาณ 7 แสนบาทต่อตู้ จากปีที่แล้วอยู่ที่ 1.5 แสนบาทต่อตู้ หรือขึ้นมากกว่า 4 เท่าตัว 2.การขาดแคลนเซมิคอน ดักเตอร์ (ไมโครชิพ) ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกในกลุ่มสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และ 3.การระบาดของโควิดในโรงงานผลิตเพื่อส่งออกที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งมอบสินค้า
 
 
“เรื่องค่าระวางเรือที่สูงขึ้นมากและยังขึ้นไม่หยุด ล่าสุด สรท.ได้หารือกับคณะกรรมการเดินเรือแห่งชาติของสหรัฐฯ (USFMC) เพื่อให้ช่วยตรวจสอบว่าสมเหตุสมผลและมีความเป็นธรรมหรือไม่ เพราะอีกด้านหนึ่งก็กระทบผู้นำเข้าของสหรัฐฯเองเช่นกัน ขณะที่เวลานี้ตลาดสายเดินเรือของโลกสัดส่วนกว่า 80% อยู่ในมือของ 8 สายเดินเรือที่ผนึกกันเป็นพันธมิตร (Alliance) ส่วนใหญ่เป็นของยุโรปและจีน แต่เขาปฏิเสธว่าไม่ได้ฮั้วกัน” นายชัยชาญ กล่าว
 
รถยนต์ลุ้นส่งออก 9 แสนคัน :
 
ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทางกลุ่มยังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ที่ 8-8.5 แสนคัน (จากต้นปีตั้งไว้ที่ 7.5 แสนคัน) และยังลุ้นว่าทั้งปีจะส่งออกได้ถึง 9 แสนคัน ซึ่งจะได้หรือไม่ (7 เดือนแรกส่งออกแล้ว 544,079 คัน) มี 2 ตัวแปรหลักคือการขาดแคลนชิพซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ยุคใหม่ต้องติดตามว่าจะรุนแรงแค่ไหน รวมถึงการระบาดของโควิดในโรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นซัพพลายเชนของโรงงานประกอบรถยนต์จะสามารถควบคุมให้ดีขึ้นได้หรือไม่
 
ยาง-การ์เมนต์ลุ้นเข้าเป้า :
 
ขณะที่นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า คำสั่งซื้อยางพาราจากต่างประเทศยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย ซึ่งเป็น 2 ตลาดใหญ่ของไทย เพื่อนำไปผลิตยางล้อรถยนต์ ถุงมือยางและอื่น ๆ คาดปีนี้ปริมาณและมูลค่าส่งออกยางพาราของไทยจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 25% จากช่วง 7 เดือนแรกส่งออกสูงสุดในรอบ 6 ปี เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนแรกของปีก่อนหน้า (ส่งออกแล้ว 1.86 ล้านตัน +25% มูลค่า 9.58 หมื่นล้านบาท +64%)
 
นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่มทุกประเภท 39,831 ล้านบาท ขยายตัว 2% โดยตลาดสหรัฐฮ่องกง และยุโรปปรับตัวดีขึ้น ทั้งปีนี้ยังลุ้นการส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 10% (ปี 2563 ส่งออก 65,825 ล้านบาท -17%)
 
 
ส่วนนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า คาดปีนี้การส่งออกทูน่ากระป๋องจะติดลบ 10-15% (จากปี 2563 ส่งออก 69,958 ล้านบาท +4.1%) จากปีนี้สถานการณ์โควิดในต่างประเทศคลี่คลาย คนออกไปทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลคำสั่งซื้อลดลง แต่ยังมองว่าภาพรวมตลาดในไตรมาสที่ 4 จะกลับมา แต่ทั้งปีคงไม่ได้โตหวือหวาเหมือนปีที่แล้ว
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 15 กันยายน 2564 
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)