5 ข้อเสนอคนตัวเล็ก ช่วย SME เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย
จังหวะการเปลี่ยนผ่านงานในหน้าตักของคนที่จะรับช่วงต่อแทน 2 ตำแหน่งรัฐมนตรีที่ลาออก กำลังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างมากว่าการปรับนั้นจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่กำลังฝุ่นตลบอยู่ในขณะนี้อย่างไร
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านโยบายหลักที่ผู้บริหารชุดใหม่ที่จะรับไม้ต่อต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญคงหนีไม่พ้นการแก้ปัญหา “ฟันเฟืองตัวเล็ก” อย่างผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่กำลังได้รับผลกระทบจากมรสุมโควิดจนแทบจะล้มหายตายจาก
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ให้มุมมองกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงนโยบายเศรษฐกิจเอสเอ็มอีว่า ควรต้องมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน GDP SMEs และส่งออกของ SMEs ปรับปรุงร่วมหาทางรอด หรือดึงดันเดินเข้าทางตัน “สองเรื่องเหลื่อมล้ำ เอสเอ็มอีไทย”
GDP SMEs 34% :
เมื่อปี 2563 มีข้อมูลว่า GDP SMEs 34% มีมูลค่า 5.34 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้ SMEs ภาคการบริการ มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 44% ของ GDP SMEs หรือ 2.35 ล้านล้านบาท และเป็นกลุ่มที่มีผู้ประกอบการ SMEs ที่มีจำนวนกว่า 1.2 ล้านราย
ขณะที่ SMEs ภาคการผลิต มีสัดส่วน 32% ของ GDP SMEs หรือ 1.71 ล้านล้านบาท และ SMEs ภาคการค้า มีสัดส่วน 22% ของ GDP SMEs หรือ 1.17 ล้านล้านบาท สุดท้าย SMEs ภาคธุรกิจเกษตร มีสัดส่วน 2% ของ GDP SMEs หรือ 0.11 ล้านล้านบาท
ผู้ส่งออก SMEs 12.5% :
ทั้งนี้ หากแยกสัดส่วนมูลค่าการส่งออก จะพบว่าเป็นการส่งออกโดย SMEs เพียงประมาณ 1 ล้านล้านบาท หรือ 12.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดประมาณ 7 ล้านล้านบาท และโดยเฉพาะ SMEs รายย่อย มีสัดส่วนส่งออกเพียง 1.1% ขณะที่ SMEs รายย่อม 3.7% และรายกลาง 7.7% ตามลำดับ และมีผู้ประกอบการ SMEs เพียงประมาณ 30,000 ราย ที่มีขีดความสามารถสร้างรายได้จากภาคการส่งออกหรือไม่ถึง 1% ของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมด 3.1 ล้านราย
สถานการณ์การส่งออกของไทยเกินดุล เป็นผลมาจากขีดความสามารถของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ แต่หากเจาะลงไปจะพบว่า มูลค่าการส่งออกของ SMEs น้อยกว่าการนำเข้า หรือขาดดุลการค้า”
5 ข้อเสนอจากคนตัวเล็ก :
สิ่งที่เน้น คือ ปัจจัย “ลดความเหลื่อมล้ำ พลิกวิกฤต สร้างโอกาส” ที่ต้องช่วยกันทำ เริ่มจาก
1) บ่มเพาะทุนมนุษย์ การสร้างความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ที่มีองค์ความรู้การบริหารจัดการบัญชี การเงิน การตลาด การสร้างแบรนด์ (branding) นำความสร้างสรรค์ (creativity) เทคโนโลยี (technology) และนวัตกรรม (innovation)มาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs ให้เติบโต (scale up) อย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกรัฐร่วมเครือข่ายองค์กรภาคเอกชนร่วมบูรณาการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
2) แต้มต่อแหล่งทุน ที่สร้างทางเลือกให้แต้มต่อกับ SMEs มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาด และสามารถเข้าถึงได้ง่าย ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งมีระบบโค้ชชิ่งเพื่อให้คำแนะนำ
ส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม ประเมินผล SMEs ให้มีการนำสินเชื่อไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธุรกิจ
3) ปฏิรูประบบราชการและสถาบันการเงิน ส่งเสริมการพัฒนาระบบดิจิทัลบล็อกเชน (digital blockchain) ลดต้นทุนลดขั้นตอน ลดข้อจำกัด เพิ่มโอกาสให้ SMEs ดำเนินธุรกิจได้สะดวกง่ายขึ้น มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งบริหารและวิเคราะห์นำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงแต่ละหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับ SMEs โดยแต่ละหน่วยงานมีการแบ่งแยกหน้าที่ ความรับผิดชอบ ทำงานบูรณาการโครงการ งบประมาณที่ชัดเจน
4) พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ SMEs แก้ไขปัญหา อุปสรรคระเบียบ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม การกีดกันทางการค้า และสร้างโอกาสที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ SMEs ให้สะดวกง่ายยิ่งขึ้น
และ
5) ส่งเสริมระบบนิเวศ SMEs ส่งเสริมให้โอกาส SMEs สร้างการมีส่วนร่วม SMEs กับการรับรู้ เข้าถึงในการใช้สิทธิประโยชน์ภาครัฐอย่างทั่วถึง กว้างขวางและพัฒนาองค์กรเครือข่ายภาคเอกชนที่เข้มแข็ง
สามารถร่วมกลไกการขับเคลื่อนของหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชนในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาผู้ประกอบการ แรงงานภาค SMEs ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของพื้นที่และประเทศไทย
เป้าหมายเพื่อที่จะทำอย่างไรให้ SMEs “ตอบโจทย์ แตกต่าง ตั้งตัว” ได้รวดเร็วขึ้น หมายถึง นโยบายแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจการตอบโจทย์ ตอบสนองความต้องการ ปัญหาของ SMEs ทั้ง 4 เรื่องข้างต้น
โดยการสร้างสรรค์ความแตกต่างทางธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการ ให้ SMEs เพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่น จับต้องได้ เป็นรูปธรรม
สุดท้ายการตอบโจทย์ แตกต่าง ต้องเพิ่มขีดความสามารถทำให้ SMEs ขายได้จริง ตั้งตัวได้เร็ว ฟื้นฟูสภาพธุรกิจกลับมาได้อย่างมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ในรูปแบบ “รัฐปรับปรุง เอสเอ็มอีปรับตัว เศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 16 กันยายน 2564