ก้าวต่อ…5 ปียุทธศาสตร์การค้าชาติ โจทย์หินท้าทายรัฐ ทวงถาม "ขีดความสามารถ"
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น ส่งผลให้การค้าและเศรษฐกิจของทั่วโลกหยุดชะงักยาวนานกว่า 1 ปี แม้ระหว่างทางจะมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมถึงไทยเองก็ได้มีการคลายล็อกเพื่อให้ภาคธุรกิจได้หายใจหายคอบ้าง แต่สุดท้ายก็กลับมาที่จุดเริ่มต้นเช่นเดิม ดังนั้น การที่ไทยจะกลับมาผงาดอีกครั้งจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง
5 กลยุทธ์เพิ่มความสามารถทางการค้า :
แม้ว่าหนทางข้างหน้ายังยากที่จะคาดเดา แต่อย่างไรทุกอย่างต้องเดินหน้า โดยขณะนี้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ.2565-2570 หรือเป็นแผนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ โดยเบื้องต้นได้มีการจัดทำ 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
1).ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการค้าและเทคโนโลยี คือ การผลักดันให้เกิดการสร้างการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงสุด
2).ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าเข้มแข็ง คือ พัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า
3).ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าสู่ตลาดโลก คือ สร้างโอกาสทางการตลาดและเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า
4).ยุทธศาสตร์ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ คือ การขยายตลาดและช่องทางการค้าภายในประเทศ และ
5).ยุทธศาสตร์พัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทุนมนุษย์ คือ การพัฒนากำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมศักยภาพ โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนทำการวิจารณ์ก่อนสรุปเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป
ยุทธศาสตร์การค้าชาติในภาวะที่ทั่วโลก รวมถึงไทย ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายด้าน อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนไปของพฤติกรรมการใช้ชีวิต การประกอบธุรกิจที่อาจไม่ต้องพึ่งพาการเดินทางพบปะเจรจากันเหมือนเดิม หันใช้เทคโนโลยีและออกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมากีดกัน ทำให้ทุกประเทศต้องหาตำแหน่งและจุดยืนในเวทีโลก
กังวลต่างชาติถอนหมุดหนี :
ด้าน ธนวัต ลิมป์พาณิชย์กุล นักวิจัย สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า อันดับแรกต้องยอมรับก่อนว่าไทยไม่ได้เป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอีกต่อไป เพราะการลงทุนมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตลอดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยค่อยๆ ลดลง สะท้อนจากมูลค่าตลาดหุ้นไทยไม่ได้เติบโตมากนัก แต่สำหรับตลาดหุ้นในภูมิภาคมีการเติบโตเฉลี่ย 60-70% ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐขยายตัว 100% โดยนักลงทุนต่างชาติ เทขายตลาดหุ้นไทยและหันไปลงทุนในตลาดอินโดนีเซียและเวียดนามมากขึ้น
โดยความไม่น่าสนใจของไทย ทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นและการลงทุนโดยตรงนั้น เกิดจากความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงเพราะอุตสาหกรรมหลักที่ใช้ในการส่งออกของไทยยังคงเป็นอุตสาหกรรมขาลงในตลาดโลก สินค้าเกษตรไทยไม่ได้เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่า ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีการปรับโครงสร้างใช้นวัตกรรมในการผลิตมากขึ้น สัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีของไทย ยังคงมีสัดส่วนเท่าเดิมที่ 23% ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เวียดนามสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 40% ของการส่งออกในภาพรวมแล้วไทยจึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์การค้าชาติเพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และต้องปรับตัวให้เท่าทันหากต้องการให้ประเทศไทยยังอยู่ในเวทีการค้าโลก
มั่นใจไทยยังมีเสน่ห์ดูดลงทุน :
ต่างจากความเห็นของ ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่มองว่า ไทยยังมีเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุน เพราะประเทศไทยมีซัพพลายเชนครบในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และปิโตรเคมี เป็นต้น ซึ่งการที่ไทยมีห่วงโซ่อุปทานครบครันแบบนี้ จะเป็นเสน่ห์ที่ดีสำหรับการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามา อีกทั้งแรงงานของไทยส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในเรื่องของการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องจากทางยุโรป และญี่ปุ่น จึงทำให้แรงงานได้รับความรู้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์
ส่วนแนวทางที่ไทยจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สู้กับประเทศอื่นๆ ได้ มองไปในทิศทางเดียวกับแผนยุทธศาสตร์ ที่ทาง สนค.ได้มีการกำหนดไว้ เพราะในอนาคตข้างหน้าเรื่องค่าแรงก็อาจจะมีการปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของกระบวนการผลิตโดยนำเครื่องจักรกล หรือหุ่นยนต์อัตโนมัติ เข้ามาใช้ในภาคการผลิตให้มากขึ้น เพราะตอนนี้เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าในปี 2565 หากภาคบริการกลับมาเปิดให้บริการก็มั่นใจว่าความต้องการแรงงานก็จะกลับมาเพิ่มขึ้น และแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมอาจโดนดึงกลับไป ฉะนั้นผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ดังกล่าวและปรับเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาเพิ่มในแง่ของการผลักดันสินค้าไปในประเทศที่ไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เอาไว้ เพื่อที่ไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำเข้า และจะต้องมีการเพิ่มทักษะให้กับพนักงานให้มีความรู้มากขึ้น เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตที่จะเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้จะต้องมีการพัฒนา ปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าให้เน้นเรื่องออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ให้ซ้ำรอยปี 2561
สร้างเข้มแข็งรับอนาคตใหม่ :
ฟาก พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ความเห็นว่า ก่อนจะไปถึงเรื่องยุทธศาสตร์การค้าในอีก 5 ปีข้างหน้า ปัจจุบันควรแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมให้ชัดเจนก่อน เมื่อแยกเป็นรายกลุ่มแล้วจะพบว่ากลุ่มที่ได้เม็ดเงินทั้งจากการลงทุนในประเทศและการลงทุนของต่างประเทศ คือ ภาคการส่งออกเป็นหลัก ส่วนเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ต้องยอมรับว่าเม็ดเงินนั้นไม่กระจายสู่เศรษฐกิจฐานราก ส่วนใหญ่เม็ดเงินจะไปอยู่ที่แผนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้สร้างเม็ดเงินต่อระบบเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร
ดังนั้น ในช่วงนี้ไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้ได้ก่อนโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในประเทศ หรือการสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ต้องเติมบริการเข้าไปด้วยเพื่อต้องการที่จะให้รายได้กระจายไปสู่ภาคธุรกิจรายย่อยด้วย เพราะถ้าผลักดันภาคท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวกลุ่มที่จะเติบโตคงมีแต่ธุรกิจแอร์ไลน์ และโรงแรม เพียงเท่านั้น ยกตัวอย่างโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้รับเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ว่า เป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับโรงแรม แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้เลย จึงอยากให้ดูเรื่องนี้เป็นบทเรียนเพื่อให้กระจายรายได้ไปในส่วนอื่นๆ ต่อไป ไม่เช่นนั้นธุรกิจรายเล็กตายหมด
จากความเห็นของทั้งภาคเอกชน และนักวิชาการสะท้อนให้เห็นว่าการค้าของไทยแม้จะยังมีสิ่งดึงดูดอยู่ แต่หากรัฐบาลไม่สามารถผลักดันให้ไทยกลับมาอยู่ในสปอตไลต์ได้อีกครั้ง เป้าหมายที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในอนาคตคงไปไม่ถึงฝั่งฝัน คงต้องติดตามต่อไปว่าโจทย์สุดหินในครั้งนี้รัฐบาลจะสามารถผ่านไปได้หรือไม่ต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 20 กันยายน 2564