นักวิชาการตั้งคำถาม 1 ต.ค.นี้ พร้อมเปิดรับต่างชาติแน่หรือไม่ ชี้รัฐต้องมั่นใจไม่เปิดๆ ปิดๆ หวั่นฉุดความเชื่อมั่น
นักวิชาการตั้งคำถาม 1 ต.ค.นี้ พร้อมเปิดรับต่างชาติแน่หรือไม่ ชี้รัฐต้องมั่นใจไม่เปิดๆ ปิดๆ หวั่นฉุดความเชื่อมั่น
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) เพชรบุรี (ชะอำ) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน ) เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่แตง แม่ริม ดอยเต่า) ซึ่งกำหนดในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และเลื่อนเปิดกทม. ไปเป็นวันที่ 15 ตุลาคมนี้ เบื้องต้นมองว่า ในปัจจุบันยังมีเครื่องหมายคำถามค่อนข้างมาก
โดยหากภาครัฐยังยืนยันที่จะเปิดให้ได้ตามแผนที่วางไว้ รัฐบาลจะต้องแก้ปมและตอบคำถามให้ได้ในหลายๆ ข้อ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนให้กับคนในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของระบบการจัดการ อาทิ หากนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วสามารถทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง ไม่ใช่มาแล้วไม่สามารถทำอะไรได้ตามที่ต้องการ และรัฐบาลจะต้องตั้งเป้าไว้ว่า กทรเปิดประเทศครั้งนี้ จะต้องเป็นการเปิดให้ได้ตลอด ไม่ใช่การเปิดๆ ปิดๆ เหมือนที่ผ่านมา โดยจะต้องวางแผนว่า หากพบการระบาดกลับมาอีกครั้งจะต้องทำอย่างไร หรือหากเกิดปัญหาอะไรขึ้น รัฐบาลมีแผนในการรับมืออย่างไรบ้าง นอกจากการสั่งปิดธุรกิจและบริการใหม่อีกรอบ
นายนณริฏ กล่าวว่า การเปิดประเทศ หรือการเปิดเศรษฐกิจใหม่นั้น จะต้องทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งจะต้องเป็นวัคซีนเข็มสองเท่านั้น เพราะเป็นสัดส่วนที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น แต่สัดส่วนดังกล่าวเป็นโควิด-19 สายพันธุ์อู่ฮั่นเดิม ไม่ได้รวมสายพันธุ์เดลต้า ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีการพูดถึงว่าต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 100% ทำให้การฉีดวัคซีนในสัดส่วน 70% ก็ไม่ได้สร้างความแน่ใจมากนักว่าจะได้ผลมากน้อยเท่าใด โดยพิจารณาเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น พบว่ามี ประชาชนในพื้นที่ได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นแล้ว แต่ถามว่า จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้นนั้น นับรวมประชากรแฝงด้วยหรือไม่ ซึ่งหากไม่รวมประชากรแฝงในพื้นที่ ก็เท่ากับว่าจำนวนผู้ฉีดวัคซีนจะมีสัดส่วนลดลงน้อยกว่าเดิม และแม้จะนับรวมประชากรแฝง
ซึ่งหมายความว่าจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนจะเพิ่มมากขึ้น เป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นแล้ว แต่ก็มีความเสี่ยงในกรณีของพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวรัศมีประมาณ 120 กิโลเมตรรอบกรุงเทพฯ อาทิ เดินทางไปเที่ยวหัวหิน พัทยา ชะอำ หรือจังหวัดใกล้เคียง อาทิ จังหวัดนครราชสีมา ลพบุรี ซึ่งหมายความว่าการฉีดวัคซีนจนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น ไม่ได้ต้องเน้นเฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่จะต้องเน้นในพื้นที่ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงที่สามารถขับรถไปถึงได้ด้วย โดยส่วนนี้เองมองว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ และหากจะลดความเสี่ยงลงจริงๆ ประเมินจากผู้ได้รับวัคซีน และอัตราการฉีดวัคซีน มองว่าควรพร้อมคงอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรืออย่างช้าเป็นต้นเดือนธันวาคม จึงจะมีความเหมาะสมมากที่สุด
“หากเราเร่งเปิดในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามา และเกิดการระบาดซ้ำกลับมาอีกครั้ง จากเดิมที่มองว่าควรเปิดในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ระยะเวลาจะห่างกัน 45 วัน ซึ่งใน 45 วันนี้ หากมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นกลับไปอยู่ในหลัก 2 หมื่นคนต่อวัน เท่ากับเพิ่มขึ้นวันละ 1 หมื่นคน รวม 45 วัน จะมีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้น 4.5 แสนคน ประเมินว่ามีอัตราผู้เสียชีวิต 1% เท่ากับจะมีผู้เสียชีวิต 4.5 พันคน คำถามคือ คุ้มหรือไม่หากจะเปิดประเทศในเดือนตุลาคมนี้ ทันที เพื่อสร้างรายได้เข้ามา และกับจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในประเทศที่จะเพิ่มสูงมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่คุ้ม” นายนณริฏ กล่าว
นายนณริฏ กล่าวว่า หากเร่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเกิดการระบาดรอบใหม่กลับมาอีกครั้ง ภาครัฐก็จะต้องสั่งปิดกิจกรรมหรือกิจการใหม่ ซึ่งการสั่งปิดธุรกิจ แบบเปิดๆ ปิดๆ ถือเป็นการลดความน่าเชื่อถือของภาครัฐลงอีก ซึ่งความจริงรัฐบาลไม่สามารถที่จะสั่งปิดธุรกิจ อนุญาตให้กลับมาเปิดใหม่ และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็สั่งให้ปิดใหม่อีกรอบ เพราะความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจะหายไป จากที่เคยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในการควบคุมการระบาดโควิด และคาดว่าจะสามารถกลับมาเปิดท่องเที่ยวได้เร็วมาก ก็กลายเป็นป่วยติดเชื้อใหม่ กลับไปสู่การควบคุมการระบาดใหม่อีกครั้ง
รวมถึงประเมินในด้านความพร้อม มองว่าในการที่จะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศนั้น ควรที่จะต้องเปิดธุรกิจ หรือเปิดการบริการต่างๆ กลับมาก่อน คงไม่ต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องการได้ อาทิ ไม่สามารถนวดได้ ไม่สามารถทำสปาได้ ไม่สามารถบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่สามารถท่องเที่ยวหลังช่วงเวลา 21.00 น. ได้ คำถามคือ ขณะนี้รัฐบาลอนุญาตให้เปิดกิจกรรมเหล่านี้ได้หรือยัง จึงมองว่าประเด็นด้านความพร้อมในขณะนี้ ถือเป็นอุปสรรคที่ภาครัฐจะต้องทำงานหนักมาก หากจะเปิดรับต่างชาติในเดือนตุลาคมนี้จริงๆ โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจว่า หากเกิดการระบาดกลับมาอีกระลอก รัฐบาลมีแผนดำเนินการอย่างไร ประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งจะต้องสื่อสารออกมาให้ชัดเจน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 19 กันยายน 2564