เอกชนไทยเข็นจีดีพีปีหน้า 6-8% ดันส่งออกหนุนเข้าขบวน CPTPP

"กกร." ประสานเสียงดันจีดีพี 65 ฝ่าโควิดโต 6% "ส.อ.ท.-หอการค้าฯ" ชี้ปัจจัยบวกเศรษฐกิจโลกฟื้น ไทยเข้า APEC หนุนเครื่องยนต์ส่งออก-เปิดประเทศดันท่องเที่ยว-ลงทุนกลับมาคึก “สนั่น” หารือ รมว.ต่างประเทศ เข้าขบวน CPTPP ต.ค.นี้ ชง “ทีมไทยแลนด์พลัส” หวังจีบทุนจีนย้ายฐาน “สุพันธุ์” เตือนระเบิดเวลาปีหน้า “พักหนี้” หมดอายุ 4 แสนบัญชี
 
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.มองปี 2565 เศรษฐกิจไทยน่าจะไปได้ 6-8% ถ้าย้อนปี 2562 เศรษฐกิจติดลบ 6% กว่า ปีนี้บวกประมาณ 0.5-1% ถ้าปี 2565 ขึ้นไป 6% ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันเท่ากับว่าเรากลับเข้าสู่ที่เดิมก่อนหน้านี้
 
ซึ่งการตั้งเป้าหมายระดับนี้ถือเป็นเรื่องต้องทำ เราต้องกล้าที่จะท้าทายตัวเอง ต้องทำให้ได้ และที่สำคัญ ปีหน้ามีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะขาขึ้น หลายประเทศฉีดวัคซีน
 
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่เจอในปีนี้อย่างตู้คอนเทนเนอร์ขาดหรือแพงไม่น่าห่วง เพราะเป็นปัจจัยที่ทั่วโลกเจอเหมือนกัน แต่ที่เราจะห่วงมีเพียงว่าโควิดจะมีรอบที่ 5 หรือไม่ ถ้าเราไม่มีปัญหานี้ โรงงานต่าง ๆ ไม่ปิด เราไปต่อไปได้
 
ชง กนศ.เคาะ CPTPP ต.ค.นี้ :
 
แนวทางในการขับเคลื่อนจีพีดี สิ่งสำคัญ คือ ภาครัฐ มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องไปด้วยกันกับภาคเอกชน ซึ่งทางหอการค้าฯเตรียมแผนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย
 
โดยเฉพาะการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) จากการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้รับคำยืนยันว่า “กระทรวงพร้อมที่จะรับฟังภาคประชาสังคมเพื่อหาทางออกร่วมกันทุกประเด็น”
 
ทั้งนี้ เอกชนมองว่าการตัดสินใจเข้าร่วมการเจรจาต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะขณะนี้ จีน ไต้หวัน หรือแม้แต่สหราชอาณาจักรต่างเข้าร่วม CPTPP แล้ว ในส่วนของไทยควรต้องสรุปให้ได้อย่างช้าที่สุดภายในตุลาคมนี้
 
เพื่อยื่นจดหมายเข้าร่วมการเจรจา ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี และเพื่อจะได้ไม่ต้องเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนกับประเทศสมาชิก CPTPP มากยิ่งขึ้น
ทีมไทยแลนด์พลัส “จีน-สหรัฐ” :
 
“หอการค้าไทยประสานหารือเพื่อจัดตั้ง ‘ทีมไทยแลนด์พลัส’ ซึ่งเป็นโมเดลที่ผมในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ได้นำมาใช้ที่เวียดนามแล้วประสบความสำเร็จมาก มีเอกชนไทยสามารถขยายการค้า การลงทุนไปได้ถึง 600 บริษัท จึงเสนอให้นำโมเดลนี้มาใช้กับประเทศคู่ค้าสำคัญ นำร่องกับจีน และสหรัฐก่อน ซึ่งจะเริ่มในปี 2565”
 
“ทีมไทยแลนด์พลัสจะเป็นการทำงานร่วมระหว่างรัฐบาล และเอกชนทั้งในประเทศไทย และในประเทศคู่ค้า โดยให้ทางเอกอัครราชทูต ซึ่งท่านมีกงสุลใหญ่ข้าราชการ บีโอไอ อยู่ที่ฮานอย โฮจิมินห์ และมีการบินไทย นำเอกชนในประเทศไทย สภาธุรกิจไทย-เวียดนามซึ่งผมเป็นประธานพร้อมทั้งสมาคมนักธุรกิจไทยในเวียดนามได้มีการประชุมทุก 2 เดือน เน้น issue ที่มีปัญหาอะไรบ้างที่อยากให้ภาครัฐบาลสนับสนุน ในการที่จะปลดล็อกปัญหาการค้า การลงทุน ซึ่งผมมองว่ามันได้ผลมาก ทำให้การค้ากับการลงทุนไปได้ดี”
 
นายสนั่นมองว่า “จีน” เป็นคู่ค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เหตุใดจึงไม่ทำทีมไทยแลนด์พลัสแบบนี้ขึ้นมา จึงได้ประสานกับทางทูตไทยที่ปักกิ่งให้ได้เป็นหัวทีม และทางหอการค้าฯเป็น หัวหน้าทีมโคแชร์ ดูแลคนไทยไปลงทุนที่ประเทศจีนจำนวนมาก
 
ทั้ง ซี.พี. มิตรผล และที่นั่นมีกงสุลใหญ่มากจำนวน 9 แห่ง มีทูตพาณิชย์อีกหลายสำนักงาน เป้าหมายคือ การดึงจีนมาลงทุนในเมืองไทย
 
“ขณะเดียวกัน เราก็อยากทำทีมไทยแลนด์พลัสที่อเมริกาด้วย เพื่อกระจายไปยังตลาดหลักที่ทำการค้า การลงทุนกับไทย หัวหน้าทีม วอชิงตัน ดี.ซี. และทางคุณกลินท์ สารสิน ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทย และจะเอาหอการค้าสหรัฐในไทยมาร่วมทีม synergy นี้จะแข็งแกร่งมาก คงจะเริ่มต้นได้ในปี 2565”
 
ปรับมาตรการ BOI-EEC :
 
“ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนทั้งในส่วนของบีโอไอก็ต้องปรับเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ส่วนอีอีซีก็ต้องทำให้เกิดให้ได้ ต้องดึงอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามาให้ได้ ควบคู่กับการเจรจาความตกลงเอฟทีเอ ต้องทำ CPTPP ที่จะดึงดูดการลงทุนต้องใช้เวลาอีก 4 ปี ฉะนั้นต้องมีเอฟทีเออื่น เช่น ไทย-อียูด้วย”
 
ส.อ.ท.เห็นด้วยจีดีพีฟื้น :
 
ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กกร.จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดการณ์โอกาสที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ
 
หรือจีพีดีปี 2565 จะสามารถไปได้ 5-6% ซึ่งเท่ากับว่าไทยจะกลับไปยืนเท่ากับปีก่อนที่มีโควิด จากที่ตัวเลขจีดีพีปีก่อนหดตัว 6% และปีนี้ไม่โต หรืออาจจะเรียกว่าเศรษฐกิจไทยไม่โตมา 2 ปีแล้ว
 
ซึ่งในปีหน้ามีปัจจัยบวกสนับสนุนทั้งเรื่องการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ระดับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และไทยเองมีโอกาสจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม APEC
 
โดยเครื่องยนต์หลักที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีหน้า ยังเป็นภาคการส่งออกที่มีโอกาสขยายตัวมากขึ้น ส่งผลเชื่อมโยงให้เอกชนผู้ส่งออกลงทุนขยายกำลังการผลิตมากขึ้น และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จะย้ายฐานการผลิตมาไทย
 
และหากไทยสามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญอย่างการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งทำเอฟทีเอ อย่างเอฟทีเอไทย-อียู และ CPTPP ให้เกิด จะเป็นแรงหนุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวน่าจะมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้และค่อย ๆ ฟื้นตัวในไตรมาส 2/2565
 
แนะอุดปัจจัยเสี่ยง :
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลต้องเฝ้าระวังอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ เรายังมี “ระเบิดเวลา” จากการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในช่วงสิ้นปีนี้จะหมดลง มีผู้ที่ได้รับการพักชำระหนี้ 4 ล้านบัญชี ทางภาครัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการมาตรการนี้ต่อหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งทาง “สถาบันการเงินเองก็เหนื่อยแล้ว”
ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องเอสเอ็มอี ซึ่งการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) พิจารณาออกมาตรการออกมาช่วยจ่าย (โคเพย์) เพื่อพยุงการจ้างงานถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
 
แต่อย่างไรก็ตาม “เรื่องประสิทธิภาพการใช้เม็ดเงิน” กระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 4 ปีนี้ และต้นปี 2565 รวมถึงการใช้งบประมาณปี 2565 เป็นเรื่องที่ควรต้องให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้เม็ดเงินในด้านสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาเราพบว่ายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
 
“การตัดสินใจที่ล่าช้าในเรื่องการจัดหาวัคซีน และเอทีเค ทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดยืดเยื้อทั้งที่ควรจะจบในเดือนเมษายน หรืออย่างช้าในเดือนกรกฎาคม นั่นจึงทำให้เราเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ
และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเดือนละ 1-2 แสนล้านบาท ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นอันดับท้าย ๆ ในอาเซียน ทั้งที่เศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐยังสามารถขยายตัวได้ถึง 6% ในปีนี้ จากที่ปกติขยายตัวเพียงแค่ 1-2% เท่านั้น”
 
หอการค้าคาดโตเฉลี่ย 5% :
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 มีโอกาสที่จะขยายตัว 6-8%
 
าจากหลายปัจจัย โดยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาให้ได้ หากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวภายในประเทศได้ 20 ล้านคน ครึ่งหนึ่งที่เคยเข้ามา ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว จะส่งผลให้เงินสะพัดเป็นจำนวนมาก
 
ภาครัฐดึงดูดการเข้ามาลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในพื้นที่ EEC หรือแผนการดึงคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทย หากในปีหน้าสามารถดึงคนต่างชาติเข้ามาได้ 50,000-100,000 คน
 
จะทำให้เกิดการใช้จ่ายได้ปีละ 1 ล้านบาท หากสามารถผลักดันได้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จีดีพีสามารถโตได้ 6-8% แต่หากมุมมองของหอการค้าโอกาสที่เป็นไปได้มากสุดที่จีดีพีไทยจะโตได้นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 5%
นอกจากนี้ ประคองค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่า ผลักดันการส่งออก โดยให้การส่งออกทั้งปี 2565 ขยายตัว 7-8% การกระตุ้นวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 เติมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1-2 ของปี
 
โดยอัดฉีดเม็ดเงินตั้งแต่เทศกาลปีใหม่จนถึงตรุษจีน การใช้จ่ายผ่าน “คนละครึ่ง” การนำมาตรการช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ จะทำให้มีเงินสะพัดได้ 1 แสนล้านบาท และภาครัฐอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 3-5 แสนล้านบาท โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดี
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 ตุลาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)