วิกฤตขาดแคลนพลังงานของจีน สาเหตุเกิดจากอะไร?
จีนพึ่งพาถ่านหินจำนวนมหาศาลเพื่อผลิตไฟฟ้าสร้างความอบอุ่นให้ประชาชน แต่ขณะนี้บางมณฑลไม่สามารถใช้ไฟได้ ท่ามกลางค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้น การลดกำลังผลิตไฟ และความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยมลพิษของทางการจีน
วันที่ 11 ตุลาคม 2564 เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า โรงไฟฟ้าบางแห่งของประเทศมหาอำนาจอย่าง “จีน” กำลังลดการผลิต ทำให้ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีความเสี่ยงเรื่องการเติบโตของจีดีพี และอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
ต้นตอวิกฤตพลังงานจีน
จีนประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานบางครั้งบางคราว ซึ่งมักเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างราคาถ่านหินที่มุ่งเน้นการตลาด และอัตราค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลควบคุม
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 รัฐบาลกลางจีนได้ใช้กลไกใหม่ในการควบคุมราคาไฟฟ้าทั่วประเทศ เพื่อป้องกันความผันผวนของราคาไฟฟ้า โดยประกาศจากคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (เอ็นดีอาร์ซี) ระบุว่า หน่วยงานท้องถิ่นได้รับอนุญาตให้ลดค่าไฟได้มากถึง 15% หรือปรับขึ้นได้มากถึง 10%
อย่างไรก็ตาม เอ็นดีอาร์ซี ซึ่งรับผิดชอบกลไกการกำหนดค่าไฟของประเทศ เผยว่า อัตราการปรับขึ้นหรือลดค่าไฟดังกล่าวสามารถปรับใหม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด ทั้งนี้ แม้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนถ่านหินเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า, ราคาสำหรับผู้ใช้ ตั้งแต่ประชาชนทั่วไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีการปรับขึ้นค่าไฟเกิน 10%
ขณะเดียวกัน ไม่มีการควบคุมราคาถ่านหินในจีน และไม่นานมานี้ราคาถ่านหินเพิ่มทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการกำหนดราคาตามกลไกของตลาด เช่น ความพร้อมที่จะให้บริการ และความต้องการหรืออุปสงค์
ทั้งหมดนี้เป็นผลให้บริษัทพลังงานหลายแห่งไม่เต็มใจที่จะผลิตไฟฟ้าอย่างเพียงพอ เนื่องจากมันทำกำไรได้น้อยลง
จากการวิจัยโดยกลุ่มบริการทางการเงิน “แมคคอรี่แคปิตอล” พบว่า การผลิตไฟฟ้าของจีนเพิ่มขึ้น 11% ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน การผลิตถ่านหินของจีนเพิ่มขึ้นเพียง 4%
กลไกการกำหนดค่าไฟส่งผลต่อการผลิตไฟในจีนหรือไม่?
แม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนจะมีความพยายามในการปฏิรูปหลาย ๆ ด้าน แต่กลไกลการกำหนดราคาตามตลาดในภาคพลังงาน ยังไม่ได้รับการจัดตั้งขึ้น
เนื่องจากกลไกการกำหนดราคาดำเนินการโดยหน่วยงานด้านการบริหาร การปรับราคาจึงมักล่าช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงด้านต้นทุน ดังนั้น การกำหนดราคาจึงมักจะไม่สะท้อนต้นทุนพลังงานที่แท้จริง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน
แม้ว่าราคาถ่านหินจะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง แต่กลไกการกำหนดราคาอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงได้เป็นช่วง ๆ เท่านั้น จึงเป็นเรื่องยากสำหรับโรงงานผลิตไฟฟ้าที่จะทำกำไร นอกจากนี้ การกำหนดราคาที่ควบคุมโดยเอ็นดีอาร์ซีและจัดการโดยรัฐบาลท้องถิ่น ยังสร้างข้อจำกัด กรณีที่โรงงานผลิตไฟฟ้าต้องการผลักภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้ใช้ปลายทาง ในระหว่างที่อุปทานตึงตัว ดังนั้นจีนจึงต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนพลังงานเป็นครั้งคราว และมีแนวโน้มต้องเผชิญปัญหาต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังเสนอเงินอุดหนุนในรูปแบบต่าง ๆ ในภาคพลังงานอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เงินอุดหนุนแก่ครัวเรือนและผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคการเกษตร ขณะที่ผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า ราคาขายปลีกไม่ได้ถูกควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมความคุ้มค่า
วิกฤตพลังงานส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างไร?
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า วิกฤตพลังงานดังกล่าวอาจทำให้ทั่วโลกขาดแคลนสินค้าที่ผลิตในจีน ซึ่งอาจฉุดการเติบโตของจีดีพีจีนในปีนี้
กลุ่มธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ ประมาณการณ์ว่า เลวร้ายที่สุดคือกรณีที่ไม่มีการปรับแก้การควบคุมราคา ซึ่งอาจทำให้จีดีพีของประเทศลดลง 2% ในเดือนกันยายนและธันวาคม ซึ่งหมายถึงการสูญเสียการเติบโตของจีดีพี ปี 2564 ประมาณ 0.76%
ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตเหล็ก อะลูมิเนียม และซีเมนต์ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตพลังงาน ขณะที่สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส คาดการว่า การขาดแคลนพลังงานจะจำกัดการผลิตอะลูมิเนียมในประเทศ และยิ่งทำให้ราคาอะลูมิเนียมสูงขึ้น จากเดิมที่สูงอยู่แล้ว เนื่องจากการผลิตอะลูมิเนียมต้องใช้พลังงานสูง
ข้อจำกัดด้านพลังงานนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ซึ่งเป็นภาคที่ส่งเสริมเศรษฐกิจีนมากที่สุด ท่ามกลางการชะลอตัวอย่างรวดเร็วของภาคต่าง ๆ เช่น การบริการ ตามรายงานของธนาคารเพื่อการลงทุน “นัททิซิส” ซึ่งคาดการณ์ด้วยว่า ต้นทุนผู้ผลิตที่สูงขึ้นในอนาคต จะบีบให้ผู้ใช้ปลายทางมีต้นทุนสูงขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นด้วย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 ตุลาคม 2564