จีนเพิ่มบทบาทขนส่งทางรถไฟ เชื่อมโยงการค้ากับอาเซียน
รถไฟสินค้าสาย "สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี-อาเซียน" เริ่มเดินรถเป็นประจำแล้วบนเส้นทางขนส่ง 2,300 กิโลเมตร นำสินค้าจากเมืองไห่อันและพื้นที่ใกล้เคียง ออกเดินทางทุกวันศุกร์มายังเมืองฮานอย ภายใน 5-7 วัน ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าการขนส่งทางทะเลเกือบครึ่งหนึ่ง
บริการรถไฟสินค้าระหว่างประเทศ เส้นทางสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี-อาเซียน หรือที่เรียกว่า “สายไห่อัน-อาเซียน” ได้เริ่มเดินรถเป็นประจำแล้ว หลังขบวนรถไฟบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าส่งออก 40 ตู้ เดินทางจากฐานโลจิสติกส์ทางรางไห่อัน ในมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน ข้ามพรมแดนที่ด่านผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ถึงกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม เมื่อเร็ว ๆนี้
ศุลกากรนครหนานจิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซู ระบุว่าบริการรถไฟสินค้าสายไห่อัน-อาเซียน ถูกบรรจุเข้าแผนผังการเดินรถเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมาหลังจากเริ่มเปิดทำการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 บริการขนส่งสินค้าระบบรางในเส้นทางดังกล่าว มีลักษณะเด่นอยู่ที่จุดหมายปลายทาง เส้นทางเดินรถ ขบวนรถไฟ ระยะเวลา และราคา ที่ล้วนถูกกำหนดไว้แล้วอย่างตายตัวและชัดเจน
นายลั่ว เฉียง รองผู้จัดการทั่วไปประจำฐานโลจิสติกส์ฯ เผยว่า บริการรถไฟสินค้าสายนี้มีระยะทางราว 2,300 กิโลเมตร จะวิ่งออกจากไห่อันทุกวันศุกร์ เดินทางถึงด่านผิงเสียงของกว่างซีภายใน 72 ชั่วโมง และถึงกรุงฮานอยภายใน 5-7 วัน ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าการขนส่งทางทะเลเกือบครึ่งหนึ่ง
บริการรถไฟสินค้าสายไห่อัน-อาเซียน จะขนส่งสินค้าหลัก อาทิ สิ่งทอ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และกระเบื้องยางพีวีซี ซึ่งมาจากเมืองหนานทงของเจียงซู รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงมาสู่อาเซียน โดยการบริการนี้จะเป็นช่องทางโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสำหรับผู้ทำการค้าระหว่างประเทศในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีและพื้นที่ตามแนวแม่น้ำแยงซี
อีกเส้นทางหนึ่งที่สำคัญคือ “ระบบขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว” ที่พร้อมเปิดหวูดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้ (ซึ่งตรงกับวันชาติลาว) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์เกี่ยวกับเส้นทางรถไฟสายนี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ของรัฐบาลจีน ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนของการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เส้นทางรถไฟจีน-ลาว มีระยะทางจากเมืองคุนหมิงถึงนครเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว รวม 922.5 กิโลเมตร และใช้เวลาในการขนส่งเพียง 8 ชั่วโมง โดยสถานีสุดท้ายสิ้นสุดที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว ซึ่งห่างจากจังหวัดหนองคายเพียง 24 กิโลเมตร
เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องคาดว่า จะมีการขนส่งสินค้า 5 เที่ยวต่อวัน และขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 2 เที่ยวต่อวัน ซึ่งจะสามารถขนส่งสินค้าได้ปีละไม่ต่ำกว่า 2.2 ล้านตัน และขนส่งผู้โดยสารได้ปีละ 0.5 ล้านคน โดยในระยะถัดไปจะเพิ่มรอบการขนส่งสินค้าเป็น 14 เที่ยวต่อวัน และขนส่งผู้โดยสาร 4 เที่ยวต่อวัน
เส้นทางนี้จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ผ่านโครงการรถไฟจีน-ยุโรป และทำให้มีการเดินทางของผู้คนเพิ่มมากขึ้น ทั้งธปท. คาดหมายว่า เส้นทางรถไฟจีน-ลาว น่าจะทำให้การนำเข้าสินค้าจากจีนมาไทยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน สินค้าไทยก็มีแนวโน้มที่จะส่งออกได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะไทยมีตลาดในจีนตอนใต้อยู่แล้ว
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 28 ตุลาคม 2564