ข้อให้คิด-ความให้แก้ไข จาก “เวียดนาม” ถึงEEC
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้มีโอกาสสนทนาว่าด้วย “เวียดนาม” กับหอการค้าไทย ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรมในกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา เพราะช่วงนี้หากไม่พูดก็เรื่องของเวียดนามในวันนี้ก็ถือว่าตกขบวนไปอย่างยิ่ง
และยิ่งที่ข้อมูลและตัวเลขที่ทั้ง 2 ท่านได้นำเสนอนั้น ยิ่งทำให้เห็นว่าเวียดนามแซงไทยไปนานพอสมควรแล้วในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออกรวมที่แซงไทยไปแล้ว ยังไม่พอสัดส่วนของการส่งออกของสินค้าทางด้านเทคโนโลยีที่มีมากกว่าไทยในปัจจุบันกว่า 5 เท่า หรือแม้แต่มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าเวียดนามกว่าหนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านดอลลาร์ในช่วงปีที่ผ่านมา ในขณะที่ของเรามีประมาณ 6 พันกว่าล้านดอลลาร์
จากการเสวนา เราพอมองเห็นภาพเหมือนกับหลาย ๆ นักวิเคราะห์ที่เผยแพร่ทั่วไปแล้ว และยังมีประเด็นที่อาจมองว่าเวียดนามยังตามหลังเรา แต่ในภาพรวมแล้ว เวียดนามคือความท้าทายความฝันEEC ของเรา เพราะเท่าที่ดูแล้ว อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เขาต้องการนั้นก็คืออุตสาหกรรมเดียวกับเราเกือบทั้งหมด คืออุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ผมขอแยกข้อสรุปในการเสวนาเป็นประเด็นและคิดว่า EEC ควรให้ความสนใจอะไร ดังนี้
1). เวียดนามมีค่าแรงที่ต่ำกว่าประเทศไทยและอาเซียนอื่นๆ มีนิสัยการทำงานอดทน ขยัน และใฝ่หาความรู้ซึ่งมักจะเรียนหรืออบรมความรู้หลังเลิกงาน ทำให้การผลิตของแรงงานเวียตนามต่อค่าจ้างที่เท่ากันสูงกว่าเราอย่างมาก ดังนั้นสิ่งที่ EEC ต้องเร่งเพิ่ม Labor Productivity ในอัตราเร่งให้ได้ โดยอาศัยทักษะด้านเทคโนโลยี สร้างสรรค์ หรือดิจิทัล
2). เวียดนามมีแรงจูงใจสูงกว่าเรา และมีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่งในการต่อรอง โดยมอบอำนาจให้ผู้ว่าการท้องถิ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนรายสำคัญและในอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมาย ดังนั้น อาจถึงเวลาที่เราอาจต้องให้ EEC มีอำนาจในระดับหนึ่งในการเจรจา เรื่องเรื่องจูงใจและเงื่อนไขของการลงทุนในพื้นที่
3). ต่อเนื่องจากข้อ 2 นั้น ทำให้เวียดนามในเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นฐานการลงทุน จะสร้างอาคาร One stop services ที่หน่วยงานอนุญาตต่าง ๆ มาตั้งที่รับคำขออนุญาตต่าง ๆ ด้วยกัน เพื่อให้นักลงทุนสามารถมาที่แห่งเดียวทุกอย่างจบ และคำขออนุญาตส่วนมากจะจบในตึกนี้ทั้งหมด สำหรับ EEC ก็มีตึกนี้เช่นกัน เพียงแต่อำนาจการขออนุญาตอยู่ส่วนกลางทั้งหมด เพราะกฏหมายของแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างมี และไม่บูรณาการ ทำให้ One stop service ของเรากลายที่รวบรวมคำขอเท่านั้น
4). เวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญของตัวเองจำนวนกว่า 53 ประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป กลุ่มสมาชิก CPTPP และสิทธิประโยชน์พิเศษทางการค้าจำนวนมากจากสหรัฐ คำถามว่าวันนี้ไทยยังจะมี FTA กับชาวบ้านหรือไม่ ถ้ายังชักเข้า ชักออก ศึกษาแล้ว ศึกษาอีก ผมละเป็นห่วง EEC จริง ๆ
อีกเรื่องที่เขาได้เปรียบเรา ก็คือ การเมืองที่มั่นคง รัฐบาลที่เสถียรภาพ และความสงบทางสังคม ทำให้ผู้คนของเขามองไทยเป็นหมุดหมายที่ต้องแซง จึงเร่งปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อกฎหมาย รวมทั้ง การกำกับ ดูแลเรื่องคอรัปชั่นได้มีประสิทธิภาพมากกว่าแต่ก่อน ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถขจัดไปหมดก็ตามแต่ก็ดีขึ้น
รวมทั้งการควบคุมดูแลกลุ่มความคิดต่าง ๆ หรือ NGO ให้เป็นไปตามระเบียบภายใต้กฎหมายที่ชัดเจน และกำลังเร่งพัฒนาสาธารณูปโภค โดยเฉพาะในภาคเหนือที่เชื่อมโยงเข้ากับจีน โดยเฉพาะการขนส่งทางบกขึ้นไปทางเหนือของฮานอยไปยังประเทศจีนมีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก รวมถึงท่าเรือต่าง ๆ วันนี้เวียตนามไม่เหมือนเดิม
ข้อสังเกตทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนเท่านั้นเอง แต่พอทำเห็นได้ว่า เราอาจต้องกลับมาพิจารณาถึงอำนาจ หน้าที่ ของกรรมการนโยบาย EEC และการปฏิรูปกฎหมายและระบบราชการจริงจังตามแผนปฎิรูปประเทศกันจริง ๆ จัง ๆ ได้แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะรู้แต่ปัญหา รู้วิธีแก้ แต่ทำไม่ได้สักที หรือเฉพาะหน้าตอนนี้ อย่างน้อย การจัดการพื้นที่พิเศษอย่าง EEC ก็ขอให้ “พิเศษจริงๆ” ทั้งอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง เพราะรูปแบบ EEC เราลอกเขามา แต่เอามาไม่ครบ ทำให้มันก็ไปเรื่อย ๆ อย่างนี้แหล่ะครับ
ผู้เขียน ดร.สมชาย หาญหิรัญ สมาชิกวุฒิสภา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564