ซาอุฯ วาดฝันเป็นฮับธุรกิจแห่งตอ. กลาง

ซาอุดิอาระเบีย พยายามดึงดูดบรรดาบริษัทต่างประเทศให้หันเหการลงทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเข้ามาลงทุนในประเทศแทน ด้วยความหวังว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งภูมิภาคตะวันออกกลางให้ได้ ล่าสุด ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันชั้นนำของโลกแห่งนี้ ได้ให้ใบอนุญาติประกอบกิจการแก่
 
บริษัทชั้นนำระดับโลกไปแล้ว 44 แห่งให้เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงริยาด เมืองหลวง
บริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่รวมถึง เทคโนโลยี อาหารและเครื่องดื่ม บริษัทที่ปรึษาและอุตสาหกรรมก่อสร้างอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้คำมั่นว่าจะเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงริยาด เช่นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง ดีลอยท์ ยูนิลีเวอร์ เบเกอร์ ฮิวจ์ และซีเมนส์   
 
มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานของซาอุดิอาระเบีย เร่งรณรงค์เพื่อทำให้ซาอุดิอาระเบียเป็นศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาค ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียมีรายได้เพิ่มขึ้น 18,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งยังช่วยสร้างงานให้แก่ประเทศประมาณ 30,000 ตำแหน่งงานภายในปี 2573
 
ที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบีย ประกาศวิสัยทัศน์ปี 2030 เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันและพัฒนาภาคบริการสาธารณะเช่น สุขภาพ ,การศึกษาโครงสร้างพื้นฐาน,นันทนาการ และการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีการลงทุนเพิ่ม ดำเนินการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ใช่น้ำมันและส่งเสริมภาพลักษณ์ของซาอุฯที่มีความนุ่มนวลและเป็นสากลมากขึ้น 
 
แต่ซาอุดิอาระเบีย จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่บรรดานักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ รวมถึงปัญหาอื้อฉาว การสังหาร“จามาล คาช็อกกี้”ผู้สื่อข่าวชาวซาอุฯในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อปี 2561
 เมื่อวันที่ 26 ก.พ.
 
ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เผยแพร่รายงานข่าวกรองที่บ่งชี้ว่ามกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุฯ เป็นผู้อนุมัติแผนการสังหารคาช็อกกี  ถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐกล่าวหามกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุฯต่อสาธารณชนว่าพัวพันกับการฆาตกรรม
 
นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐยังคว่ำบาตรกลุ่มชนชั้นนำของซาอุฯ ที่รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองซาอุฯ ที่มีบทบาทในเหตุลอบสังหารโหดคาช็อกกี ผู้ที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์คณะผู้ปกครองซาอุฯอยู่บ่อยๆ
 
ซาอุดิอาระเบีย ที่นอกจากจะเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันชั้นนำของโลกแล้ว ยังเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกอาหรับด้วย กำหนดเส้นตาย ด้วยการประกาศในเดือนก.พ.ที่ผ่านมาว่าจะให้เวลาบริษัทต่างชาติจนถึงปลายปี 2566 เพื่อตั้งสำนักงานในกรุงริยาด หากพ้นกำหนดเส้นตาย จะถูกเพิกถอนสัญญาทางธุรกิจกับรัฐบาล
 
“คาลิด อัล-ฟาลิห์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนของซาอุดิอาระเบีย ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียว่า “การเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่แค่เพื่อแข่งขันกับยูเออีเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรง(เอฟดีเอ)จากยูเออีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ซาอุฯเชื่อว่า เมืองหลวงทุกแห่งในตะวันออกกลางจะยังคงเจริญเติบโตและเฟื่องฟูไปพร้อมๆกับการเติบโตของซาอุดิอาระเบีย และขยายตัวไปพร้อมๆกับความสำเร็จของวิสัยทัศน์ปี 2030 ตลอดจนการเติบโตของริยาด ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งภูมิภาค”
 
“คุณภาพทางศรษฐกิจของริยาดจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆที่มีการเติบโตมากขึ้น อาทิ เทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ โลจิสติกส์ การผลิตด้านอุตสาหกรรมในระดับสูง การผลิตอาหารและศูนย์กลางทางการเงิน ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ริยาด” อัล-ฟาลิห์ กล่าว พร้อมทั้งบอกว่า ขณะนี้รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย กำลังทำงานเพื่อปรับปรุงไลฟ์สไตล์สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักในริยาดด้วย
 
อย่างไรก็ตาม “ไรอัน โบห์ล”นักวิเคราะห์อาวุโสที่ประเมินความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากบริษัทสแตรทฟอร์ ประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง มีความเห็นว่า ซาอุดิอาระเบียไม่น่าจะปรับปรุงกฏหมาย การบริการด้านการธนาคาร ประเด็นปัญหาทางสังคม ความบันเทิง และการศึกษาได้ในเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่ยูเออีก็ต้องปรับตัวหากไม่อยากสูญเสียเม็ดเงินเอฟดี
 
“ริยาดต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้างสิ่งดึงดูดใจที่จำเป็นเพื่อทำให้บรรดาสถาบันระหว่างประเทศและเอเชียเปลี่ยนใจ หันมาตั้งสำนักงานในริยาด ซาอุฯต้องกำจัดจุดอ่อนต่างๆออกไปให้หมด ส่วนยูเออี ต้องกำหนดนโยบายใหม่ที่เปิดเสรีตลาดแรงงานในประเทศเพื่อทำให้เป็นประเทศที่ง่ายต่อการเข้ามาพำนักและทำงานมากกว่าซาอุฯ จึงจะแข่งขันกับซาอุฯได้”
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)