“กกร.”ปรับ GDP ปี 64 เพิ่มเป็น0.5-1.5% รับเปิดประเทศแนะดึงมาตรการช้อปดีมีคืน-โปรโมทงานปีใหม่เสริมทัพ
กกร. เคาะปรับเพิ่มเป้า GDP ปี 2564 ใหม่จากกรอบเดิม 0-1% เป็น 0.5-1.5% รับการเปิดประเทศ 1พ.ย. จะช่วยหนุนศก.ไทยปลายปีและต่อเนื่องปี 2565 แนะเพิ่มมาตรการช้อปดีมีคืน และโปรโมทงานลอยกระทง และปีใหม่ช่วยเสริมทัพ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กกร.ได้พิจารณาปรับประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ปี 2564 ดีขึ้น มาอยู่ใน0.5 - 1.5 จากกรอบเดิม 0.0-1.0% แต่ยังคงเป้าการส่งออกโต 12-14% และเงินเฟ้อที่ 1-1.2% โดยตัวเลขนี้อยู่ในเงื่อนไขที่ไม่มีการระบาดซ้ำเพิ่มเติมและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“การเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและประชาชนถึงความพร้อมของประเทศไทยในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 และภาคเอกชนยังหวังว่าภาครัฐจะเสริมมาตรการด้วย มาตรการช้อปดีมีคืน จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในปลายปีนี้กลับมาคึกคักมากขึ้นและต่อเนื่องไปยังปีหน้า รวมถึง หากภาครัฐมีการผ่อนคลายและโปรโมทกิจกรรม เทศกาล ทั้งงานลอยกระทง และงานปีใหม่ได้ ก็จะเป็นตัวเสริมให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจดีขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้นักเดินทางทั้งในและต่างประเทศ โดยควรย้ำว่าต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงในขณะนั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นการระบาดด้วย”นายสนั่นกล่าว
สำหรับ ประเด็นของ กกร. ที่ได้หารือกันในวันนี้ นอกจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่หารือกันแล้ว ยังได้มีการคุยถึงประเด็นต่างๆ อาทิ การอำนวยความสะดวกสำหรับนักเดินทาง ทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และ นักลงทุน ที่เข้าออกประเทศไทย โดยภาครัฐควรเร่งเจรจาให้มีมาตรการลดหย่อน ตอนขากลับประเทศปลายทางด้วย เพื่อจะได้ไม่โดนการกักตัวและมีค่าใช้จ่ายที่สูง เมื่อเดินทางกลับ รวมถึงมีการสื่อสารข้อมูลที่อัพเดทและถูกต้องให้นักเดินทางด้วย ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยว ในปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้
การเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ โดย CPTPP ซึ่งภาคเอกชนได้ส่งผลการศึกษาของภาคเอกชนให้ทางภาครัฐและภาคประชาสังคมไปแล้ว เพื่อเร่งให้ เข้าร่วมเจรจา CPTPP เพราะหากช้าก็จะทำให้เสียโอกาส พร้อมกับต้องเพิ่มการเจรจาตามเงื่อนไขของประเทศที่จะเข้ามาเพิ่มเติมด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องหารือร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกประเทศร่วมกัน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. กล่าว ภาคการผลิตของไทยยังสามารถเติบโตได้ แต่เผชิญปัญหาอุปทานตึงตัวเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก ที่ทำให้ต้องชะลอการผลิตและไม่สามารถผลิตสินค้าได้มากเท่ากับที่ตลาดต้องการ และส่งผลให้ราคาสินค้าทั้งต้นน้ำและปลายน้ำปรับตัวสูงขึ้นมาก ในประเด็นนี้จึงทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยดัชนีราคาผู้ผลิตสูงขึ้นราว 5% เทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ผู้ส่งออกยังต้องเผชิญกับต้นทุนค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์และการขาดแคลนตู้ส่งสินค้า จึงต้องติดตามภาวะต้นทุนของผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 3 ตุลาคม 2564