ปิดฉากประชุม COP26 ประกาศ "ข้อตกลงกลาสโกว์" สานต่อภารกิจแก้ปัญหาโลกร้อน

การประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ปิดฉากลงแล้ว โดยผู้ร่วมเจรจาจากเกือบ 200 ประเทศ มีมติเห็นชอบในข้อตกลง Glasgow Climate Pact สร้างความคืบหน้าในหลายประเด็น ขณะที่สหรัฐ-จีนสร้างความริเริ่มเชิงบวก แถลงการณ์ร่วมให้คำมั่นแก้โลกร้อน
 
การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาติ (UN) หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ได้ปิดฉากลงแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 พ.ย.) หลังขยายเวลาจากกำหนดการเดิมออกมาอีก 1 วัน ขณะที่ผู้ร่วมเจรจาให้ความเห็นชอบข้อตกลงระดับโลกฉบับใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ
 
ทั้งนี้ ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเกือบ 200 ประเทศมีมติเห็นชอบใน ข้อตกลงกลาสโกว์ว่าด้วยการแก้ไขสภาพอากาศ (Glasgow Climate Pact) หลังเสร็จสิ้นการประชุม COP26 ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยประเด็นที่มีความคืบหน้ามากที่สุด คือ
 
* ประเทศผู้เข้าร่วมเจรจาเห็นชอบที่จะลดการใช้ถ่านหินซึ่งเป็นต้นตอที่สำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า และนับเป็นการกล่าวถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างชัดเจน
* นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศที่ร่วมประชุม COP26 ยังให้คำมั่นจะยุติการทำลายป่าภายในปีพ.ศ.2573 (อ่านเพิ่มเติม: ผู้นำโลกเวที COP26 เห็นพ้องยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2573)
* ประเด็นที่คืบหน้าอีกประการ คือที่ประชุมสามารถหาข้อตกลงร่วมกันในมาตรา 6 ของข้อตกลงปารีสว่าด้วยกลไกตลาดคาร์บอน ซึ่งจะเปิดทางไปสู่การปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางที่อิงกับตลาด
 
สื่อต่างประเทศรายงานว่า ในช่วงวันท้าย ๆ ของการประชุม จีนและสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในช่วงทศวรรษที่ 2020 โดยหลายฝ่ายได้แสดงความยินดีเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวครั้งนี้ โดยมองว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ทั่วโลกดำเนินการร่วมกันมากขึ้น
 
ทั้งนี้ สหรัฐและจีนเห็นชอบที่จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศในทศวรรษนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงกระบวนการพหุภาคีอื่นๆ
 
ยังมีการบ้านที่ต้องกลับไปทำต่อ :
 
แม้ว่าการประชุม COP26 จะได้ข้อสรุปในภาพรวม แต่ก็ยังคงมีบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่อง “การระดมทุน” เพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศ โดยก่อนหน้านี้ หลายประเทศได้ให้คำมั่นที่จะเพิ่มการให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านกองทุน Adaptation Fund  หลังจากมีการขอความร่วมมือประเทศที่พัฒนาแล้วให้เพิ่มการสนับสนุนดังกล่าวแก่ประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2568
 
อย่างไรก็ดี ยังต้องรอดูกันต่อไปว่าประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้น จะปฏิบัติตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่
 
ย้อนไปในปี 2552 ประเทศที่ร่ำรวยได้ให้คำมั่นจะสนับสนุนงบประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อช่วยเหลือประเทศรายได้น้อยภายในปี 2563 แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ขณะที่รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่า การบรรลุเป้าหมายข้างต้นอาจต้องใช้เวลาออกไปจนถึงปี 2566
 
สำหรับการประชุม COP ครั้งต่อไปจะมีอียิปต์เป็นเจ้าภาพ โดยข่าวระบุว่า อียิปต์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศขององค์การสหประชาชาติ (UN) หรือ COP27 ในปี 2565 ที่เมืองชาร์ม เอล ชีค
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564  

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)