เมื่อต้นทุนผลิต “จีน” พุ่ง สูงสุดในรอบ 26 ปี
วิกฤตพลังงานใน “จีน” แม้ว่าจะคลี่คลายลงไป แต่ปัญหาขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์และการหยุดชะงักของสายพานการผลิตยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ผู้ผลิตสินค้าจีนต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าจีนเพิ่มสูงขึ้นและกลายเป็นภาระที่ผู้บริโภคจะต้องแบกรับ
รอยเตอร์สรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาพุ่งขึ้นราว 13.5% จากเดือน ต.ค. 2020 และสูงกว่าระดับ 10.7% ในเดือน ก.ย. 2021 ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน นับเป็นดัชนีราคาผู้ผลิตในระดับสูงที่สุดในรอบ 26 ปี สะท้อนปัญหาแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งต้นทุนการผลิต
สาเหตุสำคัญมาจากราคาถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางวิกฤตพลังงานในเขตอุตสาหกรรมสำคัญของจีน โดยค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมถ่านหินพุ่งขึ้นถึง 103.7% จากปี 2021 ขณะที่ค่าใช้จ่ายการสกัดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็เพิ่มขึ้นราว 59.7% เช่นเดียวกัน
ค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมต้นน้ำเหล่านี้ส่งผลให้สินค้าโภคภัณฑ์สำหรับการผลิตสินค้ามีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภทโลหะ และกำลังมีแนวโน้มลุกลามไปยังกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่ออัตรากำไรของผู้ผลิตและอาจส่งต่อผลกระทบไปยังผู้บริโภค
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือ “เงินเฟ้อ” ของจีนในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้น 1.5% จากปี 2020 และสูงกว่าระดับ 0.7% ในเดือน ก.ย. 2021 ซึ่งจะเห็นแนวโน้มของการเพิ่มระดับขึ้นอย่างก้าวกระโดด แม้ว่าจะยังไม่รวดเร็วเท่าดัชนีราคาผู้ผลิต
“จางจือเว่ย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทจัดการลงทุน พินพอยต์แอสเซต เมเนจเมนต์ ระบุว่า การส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตมายังราคาสินค้าของผู้บริโภคมีแนวโน้มจะสูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
“ที่ผ่านมาการส่งผ่านผลกระทบทางด้านราคาถูกจำกัด เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ยังคงรักษาระดับราคาสินค้าคงคลังที่มีอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งต่อภาระด้านราคาไปยังลูกค้า แต่ขณะนี้สินค้าคงคลังของบริษัทต่าง ๆ เริ่มหมดลงแล้ว จึงอาจเลี่ยงไม่ได้จะต้องปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนที่สูงขึ้น” จางจือเว่ยกล่าว
ขณะที่เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า “จิง หลิว” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสภูมิภาคจีนแผ่นดินใหญ่ของธนาคารเอชเอสบีซี ระบุว่า “การส่งผ่านผลกระทบด้านต้นทุนไปยังผู้บริโภคมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยดัชนีราคาผู้ผลิตน่าจะยังคงสูงต่อเนื่องตลอดช่วงฤดูหนาว เนื่องจากราคาพลังงาน โดยเฉพาะถ่านหินและก๊าซธรรมชาติน่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
แต่ “จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของบริษัทวิจัย แคปปิทัล อีโคโนมิกส์ มองว่า แรงกดดัน “เงินเฟ้อ” ที่มาจากฝั่งผู้ผลิตน่าจะสิ้นสุดลงเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่ราคาถ่านหินลดต่ำลงจากการแทรกแซงของรัฐบาลจีนในขณะนี้
เช่นเดียวกันกับ “ซูฮงไค” รองผู้อำนวยการคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจภายใต้สมาคมนโยบายศาสตร์จีน คาดว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตจะเข้าสู่ระดับคงที่ภายในเดือน พ.ย. นี้ โดยเป็นผลมาจากราคาถ่านหินและเหล็กกล้าที่ลดลง และมีแนวโน้มที่จะคงตัวไปตลอดช่วง 6 เดือนแรกของปี 2022
ซูฮงไคกล่าวว่า “แต่ในระยะสั้น ดัชนีราคาผู้ผลิตในระดับสูงเช่นนี้จะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อต้นทุนการผลิต และการดำเนินการของอุตสาหกรรมในช่วงกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพใหญ่ที่ต้องจับตามอง”
ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นไม่ได้เป็นผลต่อเนื่องมาจากวิกฤตพลังงานเท่านั้น แต่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะภาวะตื่นตระหนกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ทางการจีนได้ประกาศให้ประชาชนบางพื้นที่กักตุนอาหารและสิ่งของจำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง
ส่งผลให้บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง “ฟูซาน ไห่เทียน เฟลเวอริ่ง แอนด์ ฟู้ด” รวมถึงผู้ผลิตเครื่องปรุงรส “เจียงซู เฮงชุน” ผู้ผลิตน้ำส้มสายชู และ “ฟูเจี้ยน แอนจอย ฟู้ดส์” ผู้ผลิตอาหารแช่แข็ง ต่างปรับราคาสินค้าของตนเองขึ้น โดยบางรายปรับราคาสูงขึ้นถึง 15%
“ตงลีฮวน” นักสถิติประจำสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ระบุว่า การเพิ่มขึ้นดัชนีราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับแรงหนุนมาจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำฝน การเปลี่ยนฤดูกาลปลูกพืช สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นเป็นระยะ รวมถึงต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตที่ส่งต่อไปยังดัชนีราคาผู้บริโภคกำลังส่งผลให้เกิดความกังวลต่อภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน หลังจากที่ GDP จีนในไตรมาส 3/2021 ขยายตัว 4.9% ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาการว่างงาน ซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่ที่รัฐบาลจีนต้องเร่งจัดการในเวลานี้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564