"เศรษฐกิจไทย" ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง
เป้าหมายในการพัฒนา "เศรษฐกิจไทย" ไม่ใช่เพียง "ปฏิรูปกฎระเบียบ" ที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ความจำเป็นต้องวาง "โครงสร้างพื้นฐาน" เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจปรับตัว ประชาชนตอบสนอง และรัฐฯ มีความน่าเชื่อถือในการบริหารราชการแผ่นดิน
เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบสาระสำคัญร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
โดยร่างแผนพัฒนาดังกล่าวกำหนดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศให้ความสำคัญในระยะ 5 ปี เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน 5 ประการ คือการปรับโครงการสร้างผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ การมุ่งสู่สังคมโอกาสและความเป็นธรรม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่
แผนดังกล่าว จัดทำให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลง ครอบคลุมทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในระยะ 5 ปีข้างหน้า อาจจะผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรืออาจจะยังอยู่ร่วมกับโควิด-19 ไม่มีใครกล้าฟันธง
ทว่าการปรับโครงสร้างผลิตไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ที่เป็นเป้าหมายแรกๆ ของ สศช. แสดงให้เห็นว่าเข็มทิศประเทศไทยกำลังเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ในทิศทางที่ควรจะเป็น เราเห็นว่าการพุ่งเป้าพื้นฐานที่เป็นจุดแข็งเฉพาะของไทยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือทางรอดของประเทศ
สอดรับกับแนวคิดของธนาคารกลางที่วันนี้กำลังส่งสัญญาณให้กับประเทศไทย เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Looking Beyond Covid-19 โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด-19” ในงานสัมมนาที่จัดโดยวารสาร การเงินธนาคาร เมื่อวิกฤตโควิดผ่านพ้นไป ประเทศไทยมีโจทย์ท้าทาย ต้องหาโกรท สตอรี่ เพื่อสร้างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ หลังพึ่งพาการส่งออก โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมๆ มากว่า 40 ปี
การที่บริบทของโลกเปลี่ยนไป จำเป็นมุ่งการเติบโตโดยใช้ความเป็นไทยไปต่อยอด เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ใช้เอกลักษณ์ความพร้อมทางด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ความโดดเด่นด้านอาหาร หรือภาคการท่องเที่ยว มาต่อยอดสร้างสรรค์โดยลงทุนเพิ่มด้านดิจิทัล เทคโนโลยีและนวัตกรรม หากไม่ดำเนินการใดๆ ไม่เพียงถูกประเทศคู่แข่งแซงหน้า อาจเห็นเศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลอลง หากไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ คาดว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียงปีละ 3%
การนำไปสู่เป้าหมายต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย โดยในส่วนของ ธปท. จะเพิ่มบทบาทในการอำนวยความสะดวกและลดความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ต่างๆ เราเห็นว่า การอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
รัฐบาลมีความสำคัญมากที่สุด ไม่เพียงปฏิรูปกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ ยังมีความจำเป็นในการวางโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างระบบนิเวศและแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัว ประชาชนมีการตอบสนอง ที่ลืมไม่ได้คือภาครัฐจะต้องสร้างความเชื่อมั่น น่าเชื่อถือและการยอมรับจากทุกภาคส่วน ในการบริหารราชการแผ่นดิน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564