Metaverse … นำจินตนาการสู่บรรทัดฐานใหม่ของการใช้ชีวิ
คาลิล ยิบราน กวีเอกชาวเลบานอน เคยกล่าวไว้ในหนังสือปรัชญาชีวิต (The Prophet) ว่า "ขอให้แต่ละคนได้มีโอกาสอยู่โดดเดี่ยว ดั่งเช่นสายพิณนั้นต่างอยู่โดดเดี่ยว แต่ก็สั่นสะเทือนด้วยท่วงทำนองดนตรีเดียวกัน" ถ้าคำกล่าวนี้มีนัย สื่อถึงการใช้ชีวิตแยกกัน แต่ยังคงสามารถเข้าถึงความรู้สึกร่วมที่งดงามในเวลาเดียวกัน แต่ยังคงสามารถเข้าถึงความรู้สึกร่วมที่งดงามในเวลาเดียวกัน
ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ (nutavootp@gmail.com) อดีตนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวว่า บทกวีของคาลิล ยิบราน บนฐานความคิดของคนในศตวรรษที่แล้วอาจจำกัดอยู่ได้แค่ในจินตนาการเท่านั้น แต่การมาถึงของ Metaverse ซึ่งเป็นระบบนิเวศของโลกเสมือนและโลกเสริมจริง กำลังทำให้เรื่องดังกล่าวมีความเป็นไปได้ จนอาจถึงขั้นกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับการใช้ชีวิตในสังคมของคนทั่วไป
การเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้างของมนุษย์ ต้องอาศัยเครื่องมือเชื่อมต่อที่กระตุ้นความรู้สึกผ่านการทำงานประสานกันของอายตนะภายใน ซึ่งประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ร่วมกับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ เช่น ตาเห็นภาพ หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรส กายรู้สึกสัมผัส และจิตสร้างอารมณ์
เทคโนโลยียุคดิจิทัลได้สร้างนิยามใหม่ของปฏิสัมพันธ์การรับรู้ผ่านภาพและเสียง เช่น ระบบไลดาร์ในรถยนต์ไร้คนขับ ทำหน้าที่แทนตาผู้ขับขี่ในการกะระยะของวัตถุที่อยู่รอบตัว โทรศัพท์เคลื่อนที่สร้างโอกาสให้ผู้คนแม้อยู่ต่างสถานที่ก็สามารถพูดคุยกันได้ ความเร็วในส่งภาพและเสียงที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ระยะทางในการสื่อสารเสมือนหนึ่งกลายเป็นศูนย์
ฟรานเซส เคร์นครอส นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ถึงกับกล่าวว่าเราได้อยู่ในยุค ‘The Death of Distance’ หรือ ‘ความตายของระยะทาง’ เนื่องจากสถานที่จะไม่เป็นปัจจัยจำกัดความสามารถของมนุษย์ในการสื่อสารระหว่างกันอีกต่อไป
อายตนะภายนอกอื่น คือ กลิ่น และรส มีความสลับซับซ้อนในการรับรู้มากกว่าภาพและเสียง เทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างสัมผัสกลิ่นและรสเสมือนจริง ยังไม่ถูกพัฒนาถึงขั้นใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันมีการประดิษฐ์จมูกอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Nose เป็นเซนเซอร์ตรวจจับกลิ่นที่ใช้อัลกอริทึมประมวลผลแบบ Principal Component Analysis หรือ PCA วิเคราะห์กลิ่นจากตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ และโครงสร้างโมเลกุลทางเคมีที่แตกต่างกัน
เช่นเดียวกับเซนเซอร์เลียนแบบประสาทสัมผัสการรับรส e-Tongue หรือลิ้นอิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่คล้ายกับต่อมรับรสใต้ลิ้นของมนุษย์ สามารถตรวจวัดปฏิกิริยาของสารเคมีที่แตกต่างกันแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าและนำมาประมวลผลเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล เพื่อระบุระดับความเปรี้ยว เค็ม หวาน มัน และขม
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวยังเป็นแค่การวิเคราะห์เชิงสถิติของโมเลกุลที่ประกอบกันเป็นโครงสร้างทางเคมีที่ก่อให้เกิดกลิ่นและรส มากกว่าจะสามารถให้สัมผัสการรับรู้กลิ่นและรสในเชิงคุณภาพที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้สึกผสมจินตนาการในเชิงจิตวิทยา
อายตนะภายนอกที่เรียกว่า โผฏฐัพพะ หรือกายสัมผัส คือ การรับรู้สภาวะรอบตัว ตั้งแต่ลักษณะความหยาบละเอียดของพื้นผิว อุณหภูมิของวัสดุ หรือ แรงกด-แรงดันที่ปลายนิ้ว ในโลกเสมือนจริงการสร้างสัมผัสแห่งดิจิทัล (Digital Touch)
ซึ่งเป็นตัวต่อของกายที่รับรู้ หรือ ‘วิญญาณ’ เชื่อมต่อกับจิต หรือธรรมารมณ์ ซึ่งจำเป็นต่อการเติมเต็มอรรถรสของความรู้สึก หรือ ‘เวทนา’ ยังต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาให้ใช้งานได้จริง ที่เห็นความคืบหน้าบ้าง เช่น งานวิจัยของจอห์น โรเจอร์ส และลูกทีมในภาควิชาวิศวกรรมชีวภาพ มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา ได้สร้างผิวหนังอัจฉริยะที่ทำจากวัสดุอ่อนนุ่มติดอุปกรณ์ผ่านเครือข่ายไร้สาย เมื่อถูกกระตุ้นจะส่งแรงสั่นสะเทือนเบาๆ ช่วยสร้างความรู้สึกสัมผัสแบบธรรมชาติคล้ายกับการถูนิ้วบนผิวหนังจริง สามารถรับรู้อุณหภูมิ และการเคลื่อนไหวของอวัยวะ เช่นการเต้นของหัวใจได้
เทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างการรับรู้สิ่งเร้าทางกาย เช่น การสั่นสะเทือน การตอบสนองต่อระดับอุณหภูมิ รวมทั้งนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการรับรู้รสและกลิ่นในรูปแบบสัมผัสแห่งดิจิทัล ยังคงต้องใช้เวลาพัฒนาอีกสักระยะ ในอนาคตถ้าการทำให้สัมผัสของอายตนะทั้งภายในและภายนอกประสานกันได้อย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ จะทำให้ระบบนิเวศบนโลกเสมือนของ Metaverse สามารถสวมทับการรับรู้ของมนุษย์บนโลกจริง ช่วยสร้างอารมณ์ความรู้สึกและเติมเต็มประสบการณ์เสมือนจริงที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะทำให้ฉากกั้นแบ่งระหว่างโลกเสมือนจริงกับโลกที่แท้จริงบางลงเรื่อยๆ
เราคงได้เห็นผู้คนทำกิจกรรมเสมือนร่วมกันภายใต้ระยะห่าง เปิดโอกาสให้การแสวงหาการดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม ที่ซึ่งมนุษย์ยังปราถนาที่จะรู้จักและมีประสบการณ์ร่วมกันแต่ไม่ต้องการผูกพันซึ่งกันและกัน เฉกเช่น คาลิล ยิบราน กับคนรัก เมย์ ไซเดย์ ที่ความสัมพันธ์ในจินตนาการอันลึกซึ้ง ผูกโยงผ่านเพียงตัวอักษรบนจดหมายที่เขียนถึงกันเท่านั้น
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564