นักวิทย์ฯ พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ที่อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ซึ่งอาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ ตรวจพบแล้วในฮ่องกง โดยผู้ติดเชื้อเป็นนักเดินทางที่กลับมาจากแอฟริกาใต้และตรวจเชื้อรอบแรกแล้วแต่ไม่พบ ต้องตรวจซ้ำขณะกักตัวจึงพบโควิดกลายพันธุ์ดังกล่าว
เว็บไซต์ Newsweek.com รายงานวานนี้ (25 พ.ย.) ว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับ ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อว่า สายพันธุ์ B.1.1.529 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในหลายตำแหน่งของ โปรตีนหนาม หรือ spike protein ของเชื้อไวรัส ที่อาจทำให้ไวรัสที่เกิดขึ้นใหม่นั้น สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ขณะเดียวกัน เดอะ การ์เดียน สื่อใหญ่ของอังกฤษ รายงานให้รายละเอียดว่า ไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้ซึ่งตรวจพบครั้งแรกที่ประเทศบอตสวานาในแอฟริกา มีการเปลี่ยนแปลงในหนามโปรตีนถึง 32 ตำแหน่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในหนามโปรตีนดังกล่าวอาจส่งผลต่อความสามารถของไวรัสในการกระจายตัวและจับกับเซลล์ของร่างกายมนุษย์ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีเชื้อไวรัสได้ยากขึ้น
ในช่วงไม่กี่วันมานี้ นายทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยาของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนในอังกฤษได้ตรวจพบคลัสเตอร์ขนาดเล็กของผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่า B.1.1.529
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานว่า จนถึงวันพุธที่ผ่านมา (24 พ.ย.) ได้มีการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวในบอตสวานา แอฟริกาใต้ และฮ่องกง โดยพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวจำนวนเพียง 10 ราย แบ่งเป็นการตรวจพบในบอตสวานา 3 ราย แอฟริกาใต้ 6 ราย และฮ่องกง 1 ราย โดยรายที่พบในฮ่องกงนั้นเป็นผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับจากแอฟริกา โดยก่อนเดินทางไปและเมื่อเดินทางกลับมาถึงฮ่องกงนั้น การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในชายคนนี้ ผลออกมาเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) แต่ต่อมาเมื่อตรวจอีกครั้งขณะที่เขากักตัว จึงได้ผลเป็นบวก
อย่างไรก็ตาม แม้พบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B.1.1.529 จำนวนน้อย แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็แสดงความวิตกกังวลอันเนื่องมาจากการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์นี้ซึ่งทำให้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่มากพอว่า มันสามารถหลบเลี่ยงภูมิต้านทานของร่างกายหรือไม่
สำหรับข้อมูลการจัดลำดับทางพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวนั้น ยังไม่ปรากฏบนแพลตฟอร์มที่ติดตามสายพันธุ์ไวรัส เช่น GISAID หรือ Outbreak.info
วัคซีนกับปุ่มโปรตีนหนามของไวรัส
วัคซีนที่โลกมีอยู่จะรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าน่าจะได้ แต่ต้องมีการทดลองต่อไปเพื่อให้ทราบผลแน่นอน
ทั้งนี้ ไวรัสโคโรนา มีโปรตีนคลุมอยู่ทั่ว วัคซีนทำงานด้วยการพุ่งเป้าไปที่โปรตีน
ปุ่มโปรตีนที่มีลักษณะเหมือนหนามแหลมของไวรัสจะยึดเกาะเซลล์ในร่างกายเราไว้ วัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทานในตัวเราให้สร้างโปรตีนเช่นนี้ขึ้นมาเอง เป็นการผลิตแอนติบอดีและทีเซลล์ที่ช่วยปกป้องเราขึ้นมา
ปัญหา คือ ไวรัสพวกนี้สามารถเปลี่ยนตัวเองไปเรื่อย ๆ และการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยหลายจุด เกิดขึ้นที่ปุ่มโปรตีนอาจส่งผลให้ไวรัสกลายพันธุ์สามารถแพร่ระบาดหรือติดต่อกันได้ง่ายขึ้น และแอนติบอดีในตัวเราที่วัคซีนช่วยสร้าง ก็อาจไม่รู้จักไวรัสกลายพันธุ์ แต่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า เกิดเหตุการณ์นี้กับเชื้อกลายพันธุ์ล่าสุด
การปรับปรุงวัคซีนไม่ใช่เรื่องยาก แต่คนที่รับวัคซีนแบบเดิมอาจได้รับความคุ้มครองน้อยกว่าที่พวกเขาคาด
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564