ธุรกิจต่างชาติโบกมือลา-หนีนโยบายพึ่งตนเองจีน
การที่จีนใช้นโยบายเข้มงวดด้านการเดินทางทำให้นักลงทุนและธุรกิจต่างชาติเริ่มมองว่าจีนอาจไม่ใช่ตลาดอย่างที่เคยคิดอีกต่อไป
นโยบายควบคุมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ของจีนแทนที่จะอยู่ร่วมกับโควิด รวมทั้งการปิดพรมแดน ตลอดจนข้อกำหนดเรื่องการเดินทางอย่างเข้มงวด กำลังสร้างปัญหาอย่างมากให้แก่บรรดานักธุรกิจและการทำงานของบริษัทต่างชาติในจีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์แนวทางนี้อาจสะท้อนเป้าหมายของจีนในการพึ่งพาตนเองในระยะยาว และจะทำให้นักธุรกิจต่างชาติพากันหนีจากจีน
“ต่างชาติจำนวนมากกำลังออกจากจีน ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการเดินทางของรัฐบาลปักกิ่ง”เคอร์ กิบบ์ส ประธานสภาหอการค้าอเมริกัน(แอมแชม)ในนครเซี่ยงไฮ้ โพสต์บนเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 18 พ.ย.
บรรดานักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า การปิดพรมแดนเพราะต้องการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของทางการจีนกำลังบั่นทอนการเติบโตทางธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติในจีนที่ถือเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดอันดับสองของโลกและกำลังทดสอบเจตนารมณ์ของจีนที่ต้องการพึ่งพาตนเอง
ตั้งแต่เดือนมี.ค.ปี 2563 จีนพยายามควบคุมการติดเชื้อโควิด-19 ในหมู่ประชาชนให้เป็นศูนย์ และรัฐบาลจีนไม่ต้องการเปิดรับนักเดินทางจากต่างประเทศ ทั้งยังห้ามผู้ที่มีวีซ่าหรือผู้ได้รับอนุญาตให้พำนักอาศัยในระยะยาวกลับไปประเทศจีนหากคนเหล่านี้เดินทางออกจากจีน
ตอนนี้มีสื่อหลายสำนักคาดการณ์ว่าจีนคงใช้มาตรการหรือข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้้ต่อไปในปีหน้า โดยนักวิเคราะห์อย่างเซนนอน คาพรอน ผู้อำนวยการบริษัทวิจัยคารพรอนนาเซีย ในนครเซี่ยงไฮ้ ให้ความเห็นว่า การดำเนินนโยบายแบบนี้จะส่งผลให้ธุรกิจของต่างชาติในจีนลดขนาดหรือหดตัวลง
คาพรอน ยังเสริมด้วยว่าทางเลือกของผู้บริหารธุรกิจในประเทศจีน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติในขณะนี้คือต้องยกเลิกการเดินทางออกจากประเทศเพื่อกลับไปเยี่ยมบ้านของตน หรือมิฉะนั้นก็ต้องตัดสินใจย้ายออกจากจีนเลย ซึ่งหนึ่งในกรณีที่ว่านี้คือกิบบ์ส ประธานแอมแชมประจำเซี่ยงไฮ้
ขณะที่“เด็กซ์เตอร์ โรเบิร์ตส์” ผู้เขียนหนังสือชื่อ “The Myth of Chinese Capitalism” หรือความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับระบบทุนนิยมของจีน บอกว่า ธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มบริษัทไฮเทครวมทั้งบริษัทอื่นๆ ที่พยายามสำรวจและทำความเข้าใจกับตลาดในจีน
เช่น ธุรกิจโฆษณา ถึงแม้ว่าบริษัทในภาคการเงินหรือธุรกิจซึ่งมีซัพพลายเออร์อยู่พร้อมในประเทศจีนแล้ว อาจจะพอรับกับสถานการณ์ได้ดีกว่า แต่ปัญหานี้ทำให้บรรดานักลงทุนและธุรกิจต่างชาติเริ่มมองว่าจีนอาจไม่ใช่ตลาดอย่างที่เคยคิดหรือเชื่ออีกต่อไปแล้ว
นอกจากข้อจำกัดเกี่ยวกับการเดินทางของผู้บริหารและนักเดินทางจากต่างชาติแล้ว การส่งสินค้าเข้าไปและออกจากจีน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของโลกด้วยมูลค่าการผลิตกว่า 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
โดยเฉพาะความล่าช้าเมื่อทางการจีนสั่งปิดท่าเรือบางแห่งเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการต้องเดินทางอ้อมล้วนส่งผลกระทบ ทำให้ค่าใช้จ่ายของการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน
โรเบิร์ตส์ ยังเชื่อว่าผู้นำระดับสูงของจีนกำลังคิดว่าประเทศจะสามารถเดินหน้าไปได้ตามลำพังโดยไม่ต้องอาศัยความสนับสนุนจากธุรกิจต่างชาติและการปิดพรมแดนจะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของจีนไปในทิศทางที่ว่านี้ได้
และเขายังเชื่อว่าการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจัดขึ้นทุกห้าปียิ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันผู้นำของจีนให้ลดการพึ่งพาจากภายนอกและหันมาสนใจตลาดภายในมากขึ้น
เมื่อเดือนต.ค.โทรทัศน์ซีจีทีเอ็นของจีนรายงานว่า ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิงเรียกร้องให้จีนพึ่งพาตัวเองมากขึ้นและให้พยายามเร่งพัฒนาเทคโนโลยีบางอย่าง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)ควอนตัมคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และบล็อกเชนโดยอาศัยนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นอิสระของจีนเอง
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาล่าสุดของกลุ่มนักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ระบุว่า จีนอาจมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 630,000 รายต่อวัน หากไม่ดำเนินนโยบายลดยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นศูนย์ต่อไปและยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทาง
รายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของจีนตีพิมพ์ในเว็บไซต์ไชนา ซีดีซี วีคลี เผยว่า จีนอาจไม่สามารถรับมือการระบาดได้ หากยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทาง โดยไม่มีการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ หรือการรักษาที่จำเพาะ
นอกจากนี้ กลุ่มนักคณิตศาสตร์ยังประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นหากจีนใช้แนวทางการควบคุมโรคแบบเดียวกับประเทศอื่น ๆ โดยได้นำข้อมูลการระบาดเมื่อเดือนส.ค. ของสหรัฐ, อังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส และอิสราเอลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ
รายงานระบุว่า จีนอาจมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แตะ 637,155 รายต่อวันเป็นอย่างน้อย หากนำกลยุทธ์ในการสกัดการระบาดของสหรัฐมาใช้ หากจีนใช้มาตรการเหมือนกับอังกฤษ จำนวนผู้ติดเชื้ออาจแตะ 275,793 รายต่อวัน และ 454,198 รายต่อวัน หากใช้มาตรการเดียวกับฝรั่งเศส
“ตัวเลขประมาณการข้างต้นเผยให้เห็นแนวโน้มที่โอกาสการระบาดในวงกว้างจะเป็นจริง ซึ่งจะนำไปสู่ภาระต่อระบบสาธารณสุขที่ต้องแลกมาด้วยราคาที่แพง ข้อมูลที่เราค้นพบแสดงถึงคำเตือนที่ชัดเจนว่าขณะนี้ เรายังไม่พร้อมที่จะใช้กลยุทธ์การเปิดพรมแดน โดยอาศัยสมมติฐานว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างที่ประเทศในโลกตะวันตกสนับสนุน” รายงาน ระบุ
แต่นักคณิตศาสตร์กลุ่มนี้เสนอแนะว่า ตัวเลขที่พวกเขาประมาณการนั้นอิงจากหลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐาน และต้องใช้แบบจำลองที่ซับซ้อนกว่าเพื่อศึกษาถึงแนวโน้มการระบาด หากยกเลิกมาตรการควบคุมการเดินทาง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564