หอการค้าไทยจัดสัมมนาออนไลน์ ยุทธศาสตร์สรรพสามิตฯ
หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดการสัมมนาภาษีสรรพสามิตประจำปี 2564 ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์สรรพสามิต ภารกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ NEXT NORMAL” ในรูปแบบออนไลน์ แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษีสรรพสามิต 5 ปี (พ.ศ.2564-2568) ของกรมสรรพสามิต เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และร่วมกันพลิกวิกฤต พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
เนื่องด้วยภาษีสรรพสามิตมีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกับประชาชน ไม่ต่างจากภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา เพียงแต่เรียกเก็บจากผู้ผลิตและผู้นำเข้า ทำให้ภาระภาษีถูกรวมอยู่ในราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อ และภาษีสรรพสามิตยังถือเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของรัฐ โดยในปีที่ผ่านมา รายได้จากภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 26% ของรายได้จากการจัดเก็บภาษีโดย 3 หน่วยงานหลัก คือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์และการดำเนินงานนโยบายภาษีสรรพสามิต ที่จะเสริมสร้างดุลยภาพทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเอกชน จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ผู้แทนกรมสรรพสามิต อธิบายว่า ภาษีสรรพสามิตเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการเฉพาะบางประเภท เช่น สินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และด้านพลังงาน โดยในการวางยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษีสรรพสามิต 5 ปี (พ.ศ.2564-2568) นั้น กรมฯ เล็งเห็นว่าอนาคตของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ การจัดเก็บภาษีหลายๆ ประเภทจึงสะท้อนประเด็นสุขภาพเป็นหลัก ตามหลักการสนับสนุนหรือควบคุมการบริโภค เช่น ภาษีความหวาน ภาษีความเค็ม ภาษีความมัน นอกเหนือจากภาษีสุรา ยาสูบ เป็นต้น แม้ว่าเป้าหมายการจัดเก็บภาษีจะเพื่อเป็นรายได้ของรัฐ แต่กรมฯ ก็ยังคำนึงถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน
แม้กรมสรรพสามิตจะชี้ให้เห็นถึงบทบาทและภารกิจของยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษีสรรพสามิต 5 ปี ในการเยียวยาผู้ประกอบการ การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจไปตามลำดับ แต่ความท้าทายจากวิถีชีวิตในยุคหลังโควิด 19 หรือ Next Normal ซึ่งได้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปจากเดิมมาก ทำให้ผู้ประกอบการจากหลายอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ยังมีความกังวลใจต่อยุทธศาสตร์ภาษีดังกล่าวไม่น้อย
ธนากร คุปตจิตต์ ประธานคณะอนุกรรมการภาษีสรรพสามิต และ ผู้แทนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงความเห็นว่า การวางนโยบายการจัดเก็บภาษีนั้นควรให้เหมาะสมกับบริบทของ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค Next Normal มากที่สุด โดยพิจารณาถึงความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงบริบทของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดโครงสร้างภาษีที่ตอบโจทย์การแข่งขัน ในการดึงนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ
สำหรับธุรกิจบริการ และธุรกิจที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจท่องเที่ยว และเป็นรายได้หลักของประเทศ ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เช่นกัน ดังนั้น หากกรมฯ มีการทบทวนปรับลดอัตราภาษีสถานบริการเพื่อเยียวยาธุรกิจเหล่านั้น ก็จะช่วยให้ภาคธุรกิจบริการอยู่รอดหรือแข่งขันในยุค Next Normal ได้
ด้าน รอน ศิริวันสาณฑ์ ผู้แทนอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ไม่ใช่แค่เพียงผลกระทบจากโควิด 19 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทรนด์เทคโนโลยี และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน ที่ทำให้เกิด Next Normal ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีการเชื่อมต่อ ยานยนต์ไร้คนขับ โมบิลิตี้ หรือรูปแบบการใช้งานอื่นที่ต่างไปจากเดิม ในขณะที่รัฐบาลมีเป้าหมายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน แต่รถยนต์สันดาปภายในก็ถือเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมโดยรวม
ดังนั้นช่วงการเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้านั้น ยุทธศาสตร์และนโยบายภาษีสรรพสามิตจึงมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมาก ในการสร้างสมดุลให้กับกลไกการจัดเก็บภาษียานยนต์ทั้งสองประเภท เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ที่จะช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์หลังได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด 19 ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน 2-3 ปี นอกจากนี้ กรมฯ ควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับประชาชนเกี่ยวกับเป้าหมายของภาษีสรรพสามิตในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
วิภาวรรณ ทัศนปรีชาชัย ผู้แทนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ระบุว่า ตั้งแต่มีการประกาศใช้ภาษีความหวาน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีการปรับตัวอย่างมาก ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้ทยอยปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม มีการปรับราคา ปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ รวมถึงแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีน้ำตาลน้อย หรือไม่มีน้ำตาลออกมามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตอบรับกับยุทธศาสตร์ภาษีสรรพสามิตในระยะกลางที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการบังคับใช้ภาษีความหวานเฟส 3 ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งมีอัตราภาษีเพิ่มขึ้นไปถึง 3 เท่าจากอัตราภาษีในปัจจุบัน แม้ว่ากรมสรรพสามิตได้ช่วยขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไป 1 ปี เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดค่อนข้างมากแล้ว แต่หากมีผลบังคับใช้จริง ผู้ประกอบการจะต้องรับภาระภาษีเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีความกังวลต่อสถานการณ์ของโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน อันอาจนำไปสู่การบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาด เช่น การจำกัดกิจกรรมและเวลาดำเนินการของธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มอย่างแน่นอน
ขณะที่ ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มองว่า การดำเนินการในยุทธศาสตร์ภาษี 5 ปี ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะนั้นเป็นแผนที่กรมสรรพสามิตได้ไตร่ตรองและเตรียมไว้ดีแล้ว ในการช่วยเหลือภาคธุรกิจได้ โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อกรมสรรพสามิต คือ 1) การทำให้ง่าย ปรับหลักการภาษีที่ซับซ้อนและก่อให้เกิดช่องโหว่ ให้ง่ายขึ้น พร้อมปฏิรูปการจัดเก็บภาษีให้อยู่บนพื้นฐานของเป้าหมายที่แท้จริง ไม่ใช่เพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐ 2) การมุ่งสู่อนาคต ปฏิรูปภาษีเพื่อให้รองรับการแข่งขันในยุค 4.0 ที่กำลังเปลี่ยนโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 3) การเตรียมการแข่งขันในโลกไร้พรมแดน 4) การอำนวยความสะดวก ในขั้นตอนและกระบวนการ 5) ความเท่าเทียม ในการเข้าถึงข้อมูลและทำธุรกรรมได้
ที่มา balancemag.net
วันที่ 23 ธันวาคม 2564