เช็กภูมิคุ้มกันหลังฉีด Sinovac 2 เข็ม + เข็มกระตุ้น

การฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็ม เป็นสูตรวัคซีนในช่วงแรกของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้วัคซีน Sinopharm ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายเหมือนกัน ยังเป็นวัคซีนทางเลือกให้กับหลายองค์กรในประเทศ จึงน่าจะมีคำถามว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตาย 2 เข็ม ควรฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนอะไร เมื่อไร และหลังจากนั้นต้องฉีดเข็ม 4 หรือไม่ อย่างไร
 
คำแนะนำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm มาแล้ว 2 เข็ม ให้ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca หรือวัคซีนชนิด mRNA (ฉีดได้ทั้ง Pfizer หรือ Moderna) ตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปหลังฉีดเข็มที่ 2 โดยสามารถติดต่อขอรับวัคซีนที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีนใกล้บ้าน เนื่องจากภูมิคุ้มกันตกเร็วกว่าวัคซีนชนิดอื่น
 
ส่วนการฉีดเข็ม 4 จะเริ่มฉีดใน 2 กลุ่มเป้าหมายคือ 1. บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า และ 2. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน โดยสามารถฉีดกระตุ้นตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปหลังฉีดเข็มที่ 3 
 
 
ดังนั้นสูตรการฉีดเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็มจะเป็นเข็ม 3 ที่ 1 เดือน และเข็ม 4 ที่ 3 เดือนนับต่อจากเข็มสุดท้าย
 
ข้อมูลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันของศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 พบว่าวัคซีน Pfizer กระตุ้นแอนติบอดีชนิด Anti-RBD IgG ได้สูงที่สุด 5,152 หน่วย ที่ 2 สัปดาห์หลังฉีดเข็มที่ 3 และลดลงเหลือ 525 หน่วย ที่ 4 เดือน รองลงมาเป็นวัคซีน AstraZeneca 1,358 หน่วย และลดลงเหลือ 291 หน่วย
 
ส่วนวัคซีน Sinopharm กระตุ้นแอนติบอดีได้เท่ากับ 155 หน่วย ซึ่งต่ำกว่าระดับภูมิคุ้มกันที่น่าจะป้องกันโรคได้ 80% (อ้างอิงจากงานวิจัยต่างประเทศเท่ากับ 264 หน่วย) และได้รับการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 4 ด้วยวัคซีน Pfizer ที่ 4 สัปดาห์หลังฉีดเข็มที่ 3 โดยภูมิคุ้มกันน่าจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้วิจัยรายงานระดับแอนติบอดีหลังจากนั้น 3 เดือน (เท่ากับ 4 เดือนหลังฉีดเข็มที่ 3) ว่าลดลงเหลือ 417 หน่วย
 
แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายมาแล้ว 2 เข็ม จะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีระดับแอนติบอดีสูงพอที่จะป้องกันโรค แต่วัคซีนเชื้อตายกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีนัก สอดคล้องกับการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากเป็นไปได้ควรฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer หรือถ้าจองวัคซีน Moderna ไว้ก็น่าจะให้ผลคล้ายกัน เพราะเป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนกัน 
 
ทั้งนี้ ข้อมูลนี้เป็นการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการ ไม่ใช่ประสิทธิผลจริงของวัคซีน แต่ 2 ค่านี้มีความสัมพันธ์กัน จึงพอบอกแนวโน้มการป้องกันโรคได้ และเป็นการศึกษาปริมาณแอนติบอดี ไม่สามารถบอกความสามารถในการยับยั้งไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ได้ หากศูนย์วิจัยทดสอบระดับภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัส (Neutralizing Antibody) ควรเผยแพร่ผลการศึกษาเพิ่มเติม
 
ที่มา the standard
วันที่ 24 ธันวาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)