CEO ผวาโอมิครอน เร่งรัฐอัดกระสุนพยุงเศรษฐกิจปี 65

ซีอีโอ ชี้ทิศทางเศรษฐกิจปี 65 ไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน เป็นปัจจัยเสี่ยง ฉุดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จี้รัฐตุนกระสุน อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเพิ่ม กระตุ้นการบริโภค เร่งดึงต่างชาติเข้าลงทุนสร้างรายได้ เข้มมาตรการดูแลเปิดประเทศสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว
 
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากไวรัสกลายพันธ์ุโอมิครอน กำลังเป็นสิ่งท้าทายต่อการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกและของไทยในปี 2565 ที่ขณะนี้ได้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรป และจีน บางรัฐได้กลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง สร้างความกังวลให้กับทุกภาคส่วนว่าการระบาดของโอมิครอนครั้งนี้ จะฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง
 
 “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สำรวจมุมมองนักธุรกิจ ถึงภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 2565 จะมีทิศทางไปทางไหน ภายใต้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลที่จะรับมือกับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
 
 
โอมิครอนทุบเศรษฐกิจ :
 
นายสุพันธุ์  มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สะท้อนว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของปี 2565 หากเกิดผลกระทบจะมีความรุนแรงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา และสร้างแผลเป็นที่ฝังลึกให้กับเศรษฐกิจไทยทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ยิ่งต้องเผชิญข้อจำกัดที่มากยิ่งขึ้น รัฐบาลอาจต้องใช้เงินเพื่อมาเยียวยามากขึ้น
 
อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ อาจทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อไว้ จนกระทบต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องใช้ เพื่อให้สามารถฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดได้ และเสี่ยงทำให้มูลค่าสินทรัพย์บางอย่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาสัดส่วนหนี้ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 100% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมของโลกก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
 
 
อย่างไรก็ตาม หากการแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอนไม่มีความรุนแรง การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ที่มีแรงหนุนจากมาตรการเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายจากภาครัฐ น่าจะยังเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้มากขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น และการขยายตัวของภาคผลิตและการส่งออก
 
“ปี 2565 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย จะทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ อาจมีการขยายตัวที่ประมาณ 3.5-4.0% หากโควิดเริ่มคลี่คลายและการกระจายวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้มากระตุ้นเศรษฐิจให้มากขึ้น”
 
กระสุนไม่พอต้องกู้เพิ่ม :
 
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2565 ถือเป็นปีที่ท้าทายของเศรษฐกิจและธุรกิจไทย โดยเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงภายนอก ในหลายประเทศยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ระลอกใหม่
 
ดังนั้น รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องกู้เงินนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเงินกู้ ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เหลือเพียงราว 2 แสนล้านบาท ไม่เพียงพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้ ประกอบกับการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจากดิม 60% เป็น 70% ของ GDP ทำให้รัฐบาลมีกรอบวงเงินที่สามารถกู้เพิ่มเติมได้อย่างน้อย 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ให้เกิดการกระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง มีการเติมกำลังซื้อ และสิ่งที่สำคัญคือต้องให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ
 
 “ควรเร่งรัดการลงทุนภาครัฐและส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ เพื่อสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ”
 
อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกในปี 2565 จะได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการ และเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวทำให้มีความต้องการในการนำเข้าสินค้าอย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าการส่งออกในปีหน้าจะสามารถเติบโตได้ในกรอบ 5 - 8%
 
จี้ดึงลงทุนต่างชาติสร้างรายได้ :
 
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.เอสซีบีเอกซ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2565 ยังมีปัจจัยเสี่ยงสูงมากจากไวรัสโอมิครอน อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น หากการแพร่ระบาดของโอมิครอนมีความรุนแรง ไทยจะอยู่ในสถานการณ์ที่เหนื่อยมาก เพราะ 2 ปี ที่ผ่านมา มีการใช้ทรัพยากรกระจายทุกโปรแกรมไปจำนวนมาก ถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นอย่างที่คิดไว้ หรือเศรษฐกิจยังไม่ดี ทรัพยากรที่มีจำกัดมากจะทำให้ประเทศเหนื่อย
 
 ดังนั้น ในปี 2565 ยังเป็นปีที่ต้องเผชิญความเสี่ยงอยู่ ไม่สามารถวางใจได้ เพราะทรัพยากรที่มีเหลืออยู่น้อย ฉะนั้น นอกจากเก็บกระสุนแล้ว ต้องคิดว่าจะสร้างกระสุนใหม่อย่างไร โดยเฉพาะการเร่งให้เกิดการลงทุนทุกภาคส่วน หรือการดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามา เพื่อสร้างความมั่งคั่งใหม่ให้เข้ามา แต่ไม่ใช่เกิด
 
“โอกาสที่จะ Recovery Time ค่อยๆผ่อนคลายยังมีอยู่ค่อนข้างมาก แต่ดูเหมือนปัจจัยเสี่ยงยังไม่หายไป ปี2565 เป็นปีที่ความเสี่ยงค่อนข้างสูง ขณะนี้ไม่แน่ใจเราจะอยู่ช่วงปลายโควิดตามที่คิดหรือเปล่า เหตุจากหลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์ หรือเรื่องเงินเฟ้อปรับตัวสูงท่ามกลางดอกเบี้ยโลกอยู่ในทิศขาขึ้น หากเมืองไทยไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งต่อต้นทุนทางการเงินอย่างไร”
 
 
มั่นใจอสังหาฯแนวราบฟื้นตัว :
 
นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) ชี้ให้เห็นว่า การเกิดขึ้นของโอมิครอน สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจ มีความผันผวน และย่อมส่งผลต่อ sentiment หรือ บรรยากาศการใช้สอยในระบบของผู้บริโภค ฉะนั้น หลักการดำเนินธุรกิจในช่วงปีหน้า ยังคงต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป กุญแจสำคัญ คือ ต้องตัดสินใจให้ไว ภายใต้ศึกที่อาจยังไม่จบในเร็ววัน
 
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า แนวโน้มของคนรุ่นใหม่ ที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ การทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) จะทำให้ ‘บ้าน’ มีบทบาทมากขึ้น กลายเป็นโอกาสของตลาดที่อยู่อาศัยไทย โดยเฉพาะดีมานด์ในแนวราบ จะผลักดันให้อุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างดี
 
ให้ความสำคัญท่องเที่ยวในประเทศ :
 
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เป็นปัจจัยลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2565 โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากบุ๊กกิ้งใหม่ต้องสะดุดลง แต่เชื่อว่าช่วงเดือนมีนาคม ตลาดจะกลับมา Pick Up อีกครั้ง แต่จะฟื้นกลับมาเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับมาตรการเปิดประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจ
 
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคุณภาพ มีความระมัดระวังตัวเองเป็นอย่างดี ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว การเข้ามาก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ไทยเที่ยวไทยจะมีความสำคัญสูง แต่พอพูดถึงซัพพลายทั้งประเทศ ฐานลูกค้าต่างชาติก็ยังมีความสำคัญ ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจในภาพรวมของทั้งประเทศก็คงจะลำบาก ขณะเดียวกันภาครัฐน่าจะมีมาตรการไปลดความเสี่ยงในคนกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันเป็นสำคัญ
 
คาดหวังว่า ในปี 2565 น่าจะเป็นปีเสือที่เตรียมจะกระโดด และเป็นปีแห่งความหวังที่ทุกคนจะกลับมาใช้ชีวิตเกือบจะปกติได้ เพราะทุกคนมีความหวังว่าโอมิครอนจะค่อยๆกลายพันธุ์จนลดระดับความรุนแรงของเชื้อไวรัสลง ซึ่งธุรกิจจึงต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาให้สามารถทำธุรกิจได้ทันทีเมื่อตลาดเริ่มทยอยกลับมา
 
 
ต้องประคองให้ศก.อยู่รอด :
 
นายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม สถานการณ์ทั่วโลกว่า ในประเทศที่มีการแพร่ระบาดและติดเชื้อมากกว่าประเทศไทยสถานการณ์และทิศทางเป็นอย่างไร ถ้ามีการแพร่ระบาดที่รุนแรงในอนาคตก็ต้องดูแลกันไป แต่หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
 
“รัฐบาลต้องเรียนรู้และไม่ทำเหมือนเดิม ต้องพัฒนาและดูแลกันไป เรียนรู้กับประสบการณ์ทั่วโลกมากขึ้น นำบทเรียนจากต่างประเทศ มาปรับใช้ในการดูแลภายในประเทศให้ได้”
 
อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ การบริโภคภายในประเทศยังไม่เพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจภายใน โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาภายนอกนี่เป็นปัญหาระดับประเทศ
 
ส่วนมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่ออกมาก่อนหน้านี้อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจในครัวเรือนเองก็ไม่ได้ดีกว่าเดิม ฉะนั้นมาตราการต่างๆ ยังคงมีข้อจำกัดอยู่ ตอนนี้แค่ประคับประคองให้ทุกคนอยู่รอดได้ เศรษฐกิจยังเดินต่อไปได้โดยที่ไม่มีใครล้มหายตายจากก็นับว่าดี
 
ปี 65 เสือตัวนี้ไม่ดุร้าย :
 
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สะท้อนมุมมองว่า หากการแพร่ระบาดของโอมิครอนไม่รุนแรง ปี 2565 ทิศทางเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวแรงต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ธุรกิจพลิกกลับมาได้ดีกว่าที่ประมาณการไว้
 
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ จะเป็นตัวบอกว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีมาตรการเข้มข้นมาดูแล แต่เชื่อว่าจะไม่ไปถึงขั้นล็อกดาวน์ เพราะดูจากการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น คนมีความรู้สึกว่าปลอดภัยมากขึ้นในการใช้ชีวิต
 
ส่วนสำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่ภาคของการท่องเที่ยว ถ้าไม่มีการท่องเที่ยวเข้ามาโอกาสที่จะให้คนไทยมาเที่ยวด้วยกันยังมีข้อจำกัด เพราะคนไทยไม่ค่อยเที่ยวซ้ำและการจับจ่ายใช้เงินยังมีข้อจำกัด จากช่องว่างระหว่างคนมีเงินกับคนไม่มีเงิน ก็จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยในระดับล่างไม่มี ส่วนคนระดับบนก็จะมีบางส่วน
 
ปี 2565 คงไม่ได้ทำให้ไทยเป็นเสือหงอย แต่ก็คงไม่ใช่เสือที่ดุจนเราขาดความรอบคอบ แต่ต้องเป็นเสือที่มีสติในการที่อาศัยจังหวะรุกจังหวะถอย แต่สุดท้ายเราอาจจะเป็นหน้ากากเสือที่ตอนสุดท้ายจะกลายเป็นพระเอกที่ชนะในการแข่งขันและยังเป็นเสือที่รักษาความเป็นที่ 1 ได้ในอาเซียน”
 
 
โอมิครอนฉุดตลาดรถยนต์ :
 
นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากเกิดรุนแรงจะส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศ และเป็นปัจจัยลบต่อสถานการณ์ตลาดรถยนต์และสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้เวลานี้ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปี 2565 ได้ค่อนข้างยาก เพราะนอกจากการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว การผลิตรถยนต์ยังปัญหาเรื่องการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ด้วย แต่มองว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไปจะเริ่มคลี่คลาย
 
“สำหรับตลาดในประเทศปี 2564 เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนกันยายน ความต้องการซื้อเริ่มกลับมา แต่คาดว่าตลาดรวมจะทำได้ไม่ถึง 8 แสนคัน ซึ่งต่ำกว่าที่โตโยต้าประเมินไว้ 8.5 แสนคัน ส่วนปีหน้า 2565 ยังคาดการณ์ลำบาก ด้วยปัจจัยโควิด-19 และการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต”
 
แม้โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ยังไม่ฟันธงสถานการณ์ในปี 2565 แต่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอื่นๆ มั่นใจว่า ตลาดรวมในปีหน้าจะดีขึ้น หรือยอดขายมีโอกาสเติบโต 5-10% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินกำลังการผลิตรถยนต์ของประเทศในปี 2565 จะเพิ่มเป็น 1.7-1.8 ล้านคัน จากปี 2564 ที่ทำได้ 1.6 ล้านคัน
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 2-5 มกราคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)